รัฐบาลเร่งเดินหน้า โครงสร้างพื้นฐานระบบราง ปีนี้จ่อเปิดอีก 5 เส้นทาง

19 ก.ย. 2565 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2565 | 10:20 น.

รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ยกระดับการเดินทางและเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบ เตรียมเปิดให้บริการอีก 5 เส้นทางภายในปี 2565 นี้

วันที่ 19 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งพัฒนาขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ ตามนโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับการเดินทางให้สะดวกรวดเร็ว และแก้ปัญหาการจราจรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น

 

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
 

นายอนุชา บูรพชัยศรี

 

ทั้งนี้ โครงข่ายรถไฟทางไกลรองรับการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง และจากทางเดี่ยวสู่ทางคู่ ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทาง 985 กิโลเมตร มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ประกอบด้วย เส้นทางที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่

 

1) ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา - ชุมทางคลองสิบเก้า - ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2562 และ 2) ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2563 และอีก 5 เส้นทางที่คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2565 นี้


สำหรับ 5 เส้นทาง ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและเตรียมเปิดให้บริการได้แก่ 1) ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร 2) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กิโลเมตร 3) ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร 4) ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวม 76 กิโลเมตร

 

และ 5) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทางรวม 167 กิโลเมตร โดยเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะสามารถเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ในการเดินทาง รวมถึงการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานด้านอื่นๆ ของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

นายอนุชา กล่าวย้ำว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามนโยบายรัฐบาลนี้ ถือเป็นการยกระดับการเดินทางที่สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสต์ติก เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน

 

พร้อมยกตัวอย่างการเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังสถานีหัวหิน จากเดิมใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง จะเหลือเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

 

เชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน