"กรณ์" ยกบทเรียน จากวิกฤตเงินปอนด์ สู่"ทางรอดของค่าเงินบาท"

29 ก.ย. 2565 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 12:08 น.

"กรณ์" ยกบทเรียนจากวิกฤตเงินปอนด์ แนะทางรอดของค่าเงินบาท อย่าสู้กับดอลลาร์ -อย่าทำให้บาทอ่อนขึ้นมาเหมือนเงินปอนด์-อุดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพิ่มรายได้เข้าประเทศ

วันที่ 29 ก.ย. 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี การลดค่าเงินปอนด์ของอังกฤษว่า ถือเป็นการปรับลดค่าเงินปอนด์อย่างรุนแรงเป็นผลโดยตรงจากนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ตามที่นายกฯ Liz Truss ได้หาเสียงไว้ว่าจะทั้งเพิ่มเงินกู้อย่างมหาศาล และจะปรับลดภาษีพร้อมกัน

 

ท่ามกลางความกดดันที่มีอยู่เดิมจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งอังกฤษขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่แล้วถึง 8% ของ GDP และอาจจะเพิ่มเป็น 10% ได้ด้วยนโยบายของนายกฯคนใหม่ ในขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ที่กว่า 100% ของ GDP อยู่แล้ว

 

\"กรณ์\" ยกบทเรียน จากวิกฤตเงินปอนด์  สู่\"ทางรอดของค่าเงินบาท\"

นายกรณ์ กล่าวว่า วันนี้เงินปอนด์อยู่ที่ประมาณ 1.08 ต่อดอลลาร์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ สาเหตุคือวิกฤติศรัทธา นักลงทุนสูญเสียความไว้วางใจในนโยบายรัฐบาล

 

นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไทยเราเองกำลังจะเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง คือเข้าสู่ช่วงลดแลกแจกแถม เราจึงต้องตระหนักในความรับผิดชอบทางการคลัง 


“วันนี้เราเป็นประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างมากที่สุดในอาเซียนเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของอเมริกา หากทำอะไรให้เกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นมาเราจะเสี่ยงที่จะถูกตลาดเงินกดดันให้ต้องเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการและประชาชนที่เป็นหนี้ อย่าคิดว่าทำอะไรก็ได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกที่วันนี้เปราะบางมาก ความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น เป็นเรื่องสำคัญที่สุด” อดีต รมว.คลัง กล่าว 

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างนี้ ขอให้คำแนะนำไว้ 3 ข้อดังนี้คือ

1. อย่าพยายามไปสู้กับดอลลาร์ อย่าไปชี้ว่าบาทต้องเท่านี้เท่านั้น เขาเป็นเจ้าของแท่นพิมพ์ สู้ไปมีแต่เจ๊ง

 

2. แบงก์ชาติมาถูกทางแล้ว ที่ไม่คิดใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือต่อกรกับดอลลาร์ ยิ่งเพิ่มดอกเบี้ยมากคนไทยยิ่งเจ็บ อย่าลืมว่า 'ดอลลาร์แข็ง บาทไม่ได้อ่อน' รัฐบาลเพียงอย่าไปทำให้บาทอ่อนขึ้นมาเหมือนเงินปอนด์

 

และ 3. ต้องเร่งเพิ่มปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งค่า เพิ่มภูมิคุ้มกัน นั่นคืออุดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพิ่มรายได้เข้าประเทศ ส่งเสริมภาพลักษณ์เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้มาก ช่วยกันใช้โอกาสประชุม APEC ให้คนทั้งโลกเห็นมุมบวกของประเทศ อย่าให้มีเหตุการณ์ฟื้นคืนภาพหลอนประชุมอาเซียนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ถ้าสิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวไม่มา เราเหนื่อยแน่