วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา แถลงว่า
จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู ทาง กมธ.ได้ระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนเพื่อหารือพูดคุยร่วมกันเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนตกผลึก โดยมี 108 องค์กรร่วมลงชื่อผลักดันและประกาศเจตนารมณ์ 8 ข้อ เพื่อแสดงปณิธานในการลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ได้แก่
1.จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการจัดการปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดที่ต้องมีการประกาศสงคราม ร่วมถึงในเชิงป้องกัน ปกป้องคุ้มครอง ปรามปราม และบำบัดเยียวยา โดยร่วมกันถอดบทเรียน วางแผน และปฏิบัติตามแผนอย่างเต็มกำหลังความสามารถ และบังคับใช้อย่างเข้มงวด
2.จะร่วมกันผลักดันให้สามารถขจัดปัญหาการครอบครองอาวุธปืน ทั้งปืนเถื่อนที่ผิดกฎหมายและจำกัดการใช้อาวุธปืนที่ถูกกฎหมายทั้งในระดับบุคคล องค์กรและประเทศ โดยคำนึงถึงมิติสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการใช้งานอย่างเข้มงวด
3.จะร่วมกันสร้างความตระหนักถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมทุกมิติ และร่วมกำจัดปัจจัยที่สนับสนุนหรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยด่วน เช่น ปัญหาเนื้อหาในเกม ข่าว ละคร ภาพยนตร์ หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่มีการเสนอความรุนแรงอย่างไม่เหมาะสม
4.จะร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชน เพื่อให้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมได้มาตรฐาน ไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยง่าย
5.จะร่วมกันสนับสนุนการวางแผนการศึกษาวิจัยและการใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านการรู้เท่าทัน และทักษะการป้องกันปัญหาความรุนแรงแก่เด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครอบครัว
6.จะร่วมกันผลักดันให้มีการสำรวจพฤติกรรมพลังบวก อาทิ ดัชนีชี้วัดคุณธรรมประชาชนคนไทยรายจังหวัดทั่วประเทศ
7.จะสื่อสารถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างระมัดระวังและเหมาะสม ภายใต้จริยธรรมกฎหมาย
8.จะหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ตอกย้ำและซ้ำเติมบาดแผลในจิตใจของเด็ก เยาวชน และครอบครัวผู้ประสบเหตุ
ทั้งนี้ ทางกมธ.จะส่งเจตนารมณ์ดังกล่าวให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ภายในวันนี้เพื่อพิจารณาโดยด่วน และจะใช้เวทีวุฒิสภาหารือในที่ประชุมและตั้งกระทู้ถามพร้อมทั้งนำผลเจตนารมณ์ดังกล่าวเข้าสู่การอภิปรายเพื่อให้ประชาชนรับรู้ต่อไปด้วย
เมื่อถามถึง กรณีที่ผลการสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่กฎหมายยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วย นายวัลลภ กล่าวว่า เราก็เห็นพ้องต้องกันว่าผู้เสพติดมีหลายลักษณะ ต้องไปดูรายละเอียดของบุคคล ความหนักหนาสาหัสของแต่ละกรณี และการติดยาเสพติดซ้ำของแต่ละคน
ซึ่งการรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดให้ติดคุก 1 ใน 3 ถึงจะสามารถลดโทษได้ แต่กรณียาเสพติดจะต้องดูว่าเป็นยาเสพติดประเภทใด มีจำนวนเท่าไร และระยะเวลาการเสพยานานแค่ไหน จะใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมในการลดโทษไม่ได้
“ส่วนกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้ายกัน พบว่าร้อยละ 90 มาจากปืนเถื่อน การรอกฎหมายจากกระทรวงมหาดไทยคงช้าไป ผมคิดว่าต้องมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้นำปืนเถื่อนมาคืนภายใน 3 เดือน และจำกัดสิทธิการถือครองว่าจะถือครองได้คนละกี่กระบอก มีอายุการถือครองเท่าไร ซึ่งไม่ควรให้ถือครองตลอดชีพ แต่ต้องมีการจำกัดเวลาเพื่อพิจารณาพฤติกรรมของผู้ถือครองตามระยะเวลาที่เหมาะสม” นายวัลลภ กล่าว