วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายวัชระแถลงนั้น นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้เข้าร่วมรับฟังเนื้อหาและซักถามประเด็นต่างๆ โดยตรงกับนายวัชระและนายวิลาศ
นายสาธิต กล่าวว่าตนฐานะข้าราชการขอปกป้องสิทธิ ทุกครั้งที่นายวัชระแถลงที่รัฐสภาระบุว่าปกป้องสิทธิของประชาชน แต่พบคำต่อว่าว่าทุจริตซึ่งเสียหายกับทั้งองค์กร และถือว่าละเมิดล่วงเกินองค์กร ตนยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ข้อมูลที่นำมาแถลงนายวัชระได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนหรือไม่ บางเรื่องที่เป็นปัญหา ได้แก้ไขจบไปแล้วไม่ได้เพิกเฉย
นายสาธิต กล่าวว่า ยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คตจ.ดำเนินการไม่ได้ทำโดยพลการ เราดำเนินการโดยสุจริต ไม่เคยคิดทุจริต ถ้าตนทุจริตในวงงานรัฐสภา โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคตจ. ขอให้ตนมีอันพินาศไปภายใน 3 วัน 7 วัน แต่ถ้าตนไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านกล่าวหา ขอให้คนที่กล่าวหาตนมีอันเป็นไปด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าหลังจากเสร็จสิ้นการแถลงข่าว นายสาธิต พร้อมด้วยนายวัชระ และนายวิลาศ จะพาสื่อมวลชนไปดูเสาต่างๆที่เกิดน้ำซึม บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดิน บี 2 ปรากฎว่า นายอรุณ ลายผ่องแผ้ว ผู้อำนวยการสำนักงานรักษาความปลอดภัย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาห้ามการกระทำของนายวัชระและนายวิลาศ
พร้อมระบุว่ารัฐสภาถือเป็นพื้นที่ควบคุม ต้องทำหนังสือขออนุญาตก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ทำให้นายวิลาศและนายวัชระ พาสื่อมวลชนตรวจดูความเสียหายตามจุดต่างๆ ไฮไลท์อยู่ที่เสาลำดับที่ โอ14 โดยนายวัชระได้พยายามนำผ้าเจ็ดสีไปผูกเสา แต่นายอรุณขอไม่ให้ผูก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลงข่าวดังกล่าว นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เตรียมแถลงชี้แจง ซึ่งนายวัชระ กล่าวว่า
"เชิญชี้แจงตามสบาย และฝากถามนายภาคภูมิด้วยว่าคดีติดสินบนโรงไฟฟ้าขนอม ทำไมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงไม่ดำเนินการฟ้องบ.ซิโน-ไทย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 และนายภาคภูมิ เป็นจำเลยที่ 6"