วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวแสดงความกังวลถึงกรณีข่าวที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
เพราะมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การผูกขาดในด้านสาธารณูปโภค ที่ควรเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงค์ชีวิตของประชาชน ทำให้คู่แข่งขันในตลาดจะเหลือเพียงสองเจ้าใหญ่ คือ เอไอเอสและทรูกับดีแทคที่ควบรวมกัน โดยถึงเแม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะเพื่อรองรับและคุ้มครองผู้บริโภคว่าต้องพ้นสามปีไปก่อนจึงจะสามารถควบรวมได้อย่างสมบูรณ์
แต่ก็มีความเสี่ยงในอนาคตที่จะทำให้ทิศทางราคาการใช้บริการโทรคมนาคมของประชาชนถูกกำหนดโดยเจ้าตลาดเพียง 2 บริษัทเท่านั้น
การที่บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่สองบริษัทควบรวมกิจการกันนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เพราะบริษัทมหาชนย่อมคำนึงถึงผลประกอบการเป็นหลัก แต่กิจการโทรคมนาคมนั้นเป็นสาธารณูปโภคที่ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องใช้
การปล่อยให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 2 บริษัท ดำเนินกิจการเช่นนี้จะส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนอาจทำให้มีการฮั้วกันและไม่แข่งขันตัดราคาซึ่งกันและกันของสองบริษัท จนทำให้ราคาอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ของประชาชนพุ่งสูงขึ้นได้ จึงอยากขอให้ประชาชนช่วยกันจับตามอง
นางสาวธิดารัตน์เสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาสนับสนุนรัฐวิสาหกิจของรัฐเองมากขึ้น อย่างเช่น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT (กสท. และ TOT เดิม) โดยให้ NT เข้ามาถ่วงดุลในตลาดโทรคมนาคมเพิ่มเติม โดยเสนอให้มีราคาที่ต่ำกว่าบริษัทเอกชนทั้งสองบริษัท เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการกับรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น
เป็นการช่วยดึงราคาในตลาดไม่ให้มีค่าบริการที่สูงเกินไป รวมถึงการันตีว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคได้อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าการที่ กสทช. อนุญาติให้เกิดการควบรวมกิจการของทุนขนาดใหญ่สองบริษัทในกิจการโทรคมนาคมนั้นไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดทุนผูกขาดขึ้นในประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยมที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนได้ เพราะไม่ได้มองถึงปัญหาของประชาชนคนตัวเล็ก ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพในสาธารณูปโภค
รัฐควรที่จะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องการผูกขาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในกิจการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน