เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเภสัชกรประจำร้านขายยาร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากร้านขายยาว่ามีการ ยกเลิกการผ่อนผันตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557 ที่กำหนดว่าร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน
ทั้งๆ ที่มีจำนวนเภสัชกรไม่เพียงพอ โดยเริ่มบังคับใช้อย่างเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ผ่านมา แต่เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเภสัชกรจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการร้านขายยาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบดังกล่าว จนต้องปิดกิจการไปจำนวนมาก จึงต้องการให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้คณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมฯ ได้ทำหนังสือเชิญปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือตัวแทนที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นปัญหานี้มาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาแนวทางแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจาก ปลัด สธ. มอบหมายให้นิติกรกรมธุรกิจบริการ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ร้องเรียน และไม่มีอำนาจในการดำเนินการด้านนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
โดยจะทำหนังสือเชิญปลัดสธ.และผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหารือรอบใหม่เร็วๆ นี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวอย่างจริงจัง
นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านขายยาที่มีกว่า 20,000 ร้านว่า จากกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีเภสัชกรประจำร้าน เพื่อดูแลเรื่องการจำหน่ายยาให้แก่ประชาชนนั้น ซึ่งถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ความปลอดภัยและมั่นใจต่อประชาชน
แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตเภสัชกรให้ได้มากเพียงพอต่อการปฏิบัติงานจริงในร้านขายยาได้ตามกฎหมาย จนทำให้ผู้ประกอบการร้านขายยาที่เคยประกอบอาชีพถูกต้องตามกฎหมายมาก่อน กลายเป็นผู้กระทำผิดอาญาไปทันที
ทั้งๆ ที่ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพตามปกติแบบสุจริต แต่กลับต้อง ถูกฟ้อง ถูกแจ้งความดำเนินคดี จึงเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นต้นทางควรลงมาศึกษาหาวิธีแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
“ขณะนี้สิ่งที่ผมมองเห็นแนวทางแก้ปัญหาคือ จะต้องกำหนดหน้าที่เป้าหมายให้ชัดเจนว่า เภสัชกรในร้านขายยามีหน้าที่อะไร หากเพียงแค่เพื่อจัดหมวดหมู่ยา ให้คำแนะนำการใช้ยาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องผลิตยาหรือใช้ทักษะชั้นสูง เห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องจบเภสัชกรระดับปริญญา
โดยอาจจะใช้วิธีการอบรมภาคปฏิบัติ หรือให้เจ้าของร้านขายยามารับการอบรมและรับประกาศนียบัตรจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจก็เชื่อว่าน่าจะทำได้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเภสัชกร เพื่อได้บรรลุจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่าย เปรียบให้เห็นตัวอย่างง่ายๆ เช่นเดียวกับร้านทองมีตำรวจเฝ้าร้านจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องให้ตำรวจระดับนายพลมานั่งเฝ้าร้าน”นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ผู้ประกอบการร้านขายยาร้องเรียนมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ตนคิดว่าเป็นเรื่องแปลก ที่ผ่าน 7-8 ปี มีแต่การผ่อนผันที่กระทรวงสาธารณสุขอ้างว่าได้ช่วยเหลือแล้ว แต่เป็นเพียงการผ่อนผันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้น ถึงเวลาที่ควรจะมีการแก้ไขเรื่องนี้ให้ยั่งยืน ทั้งนี้ 7-8 ปีที่ผ่านมาเภสัชกรก็ยังมีไม่เพียงพอ แต่พอถึงเวลาหนึ่งก็กลับมาจับผู้ประกอบการ และถ้าหากต่อไปร้านขายยาลดจำนวนลงก็จะกลายเป็นปัญหาอีก
“ผมคิดว่าเรื่องนี้ทำให้ผู้ประกอบการเป็นผู้กระทำผิดที่ไม่เป็นเรื่อง อยู่ดีๆ ทำมาหากินก็กลายเป็นผู้กระทำผิด ทำไมไม่หาทางแก้เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง ไม่ใช่มาบอกว่าก็กฎหมายเป็นแบบนี้ แล้วทำไมไม่แก้กฎหมาย ปรับปรุงแนววิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่ทำให้ผู้ประกอบการหรือประชาชน เป็นผู้ต้องหาตลอดเวลา ผมคิดว่าการดูแลบ้านเมืองตอนนี้ ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาผสม ไม่ใช่เอะอะก็ใช้กฎหมาย ผมว่าทำงานแบบนี้ใช้ไม่ได้ ซึ่งก็ต้องเชิญกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมพูดคุยหาแนวทาง วันนี้เชิญมาก็ไม่มา ผมเชิญท่านปลัดฯมา เพื่อหารือเรื่องนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ได้มอบหมายให้นิติกรมา ซึ่งเป็นนิติกรคนละหน่วยงานที่ดูแล” นายพีระพันธุ์ กล่าว