วันที่ 1 พ.ย. 2565 ในการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตามที่สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบที่มีการปรับแก้เนื้อหาจากร่างที่ ครม.เสนอมา ไม่ให้คิดดอกเบี้ยกู้ยืม ไม่มีเบี้ยปรับจ่ายล่าช้า และไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงหลักการต่อที่ประชุมวุฒิสภา ว่า กรณีที่สภาฯ แก้ไขเนื้อหาให้ปลอดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น ครม.เห็นว่าอาจนำมาซึ่งปัญหาขาดวินัยการชำระหนี้เงินกู้ ส่งผลให้เกิดอันตรายทางศีลธรรม ขาดจิตสำนึกส่งคืนเงินกู้ มีผลกระทบต่อการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เพราะขาดรายได้จากดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ทำให้กองทุน กยศ.อาจต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน กระทบต่อการให้นักเรียนกู้ยืมเงินต่อไป
หากเนื้อหายังเป็นเช่นนี้ อีกไม่เกิน 3 ปี อาจมีความจำเป็นต้องของบประมาณแผ่นดินเพิ่มเติม เพื่อให้มีเงินเพียงพอให้นักเรียน กู้ยืมต่อหวังว่าวุฒิสภาจะพิจารณาให้ กยศ.กำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับได้ เพื่อสร้างโอกาสการศึกษา สร้างวินัยการเงิน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศที่เพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจสถานการณ์โควิด
จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ ส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็น ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายไปแนวทางเดียวกันคือ เห็นด้วยกับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ช่วยเหลือนักศึกษาได้มีเงินกู้ยืมเรียน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ
เกรงจะเป็นต้นเหตุไม่มีใครคืนเงินกู้ยืม ทำให้กองทุน กยศ.ดำเนินการต่อไปไม่ได้ โดยเสนอให้คิดอกเบี้ยในอัตราต่ำ แทนการไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีค่าปรับ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.อภิปรายว่า ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ทำกฎหมายที่ผิดให้ถูกต้องด้วยการคงดอกเบี้ย และคิดค่าปรับ
การปรับแก้ไขร่างกฎหมายควรยึดหลักการให้มีกองทุนเพื่อหมุนเวียนให้ผู้กู้รุ่นต่อไป เห็นด้วยกับ รมว.คลัง ที่บอกว่าต้องมีดอกเบี้ยและค่าปรับ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า เห็นด้วยหลักการกฎหมายฉบับนี้ แต่ในร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรที่ไปแก้ไขหลักการของ ครม.ยึดหลัก 3 ไม่ 2 มี คือ ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี
ส่วน 2 มี คือ มีเวลาปลอดหนี้ทุกกรณี 2 ปี และมีผลย้อนหลังทุกกรณี ไม่รู้เหตุผลทำไม่สภาไปเปลี่ยนแปลงหลักการใหญ่ของ ครม. ขณะนี้พอมีข่าวสภาฯ เห็นชอบร่างแก้ไข ทำให้มียอดไม่ชำระหนี้ กยศ.สูงขึ้นหลายเท่าตัว ใครจะชำระ เพราะร่างนี้ให้มีผลย้อนหลัง รอให้กฎหมายบังคับใช้ก็ได้อานิสงส์ไปด้วย
ถ้าเนื้อหาเป็นเช่นนี้อีกไม่ถึง 3 ปี กองทุน กยศ.ต้องเอาภาษีประชาชนมาถม ร่างฉบับ ครม.ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการแก้หนี้ครัวเรือน ลดดอกเบี้ยจาก 7.5 ต่อปี เหลือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และลดเบี้ยปรับ จากเดิมร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 18 ต่อปี เหลือไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ถือเป็นการปฏิรูปใหญ่อยู่แล้ว ไม่ควรไปแก้ไขเพิ่มอีก
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่า การให้ไม่มีผู้ค้ำประกันถือว่า แข็งตัวเกินไป เพราะถ้ากู้มาแล้วเรียนไม่จบ จะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ เงินจะยิ่งสูญไป เรื่องนี้เป็นการกู้ยืม ไม่ใช่เรียนฟรี หมายความว่าต้องคืน จำเป็นต้องมีหลักประกัน แต่ควรมีข้อยกเว้นตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่ควรถึงขั้นให้ไม่มีการค้ำประกัน ดูแล้วหลักลอยไป
ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการไม่คิดดอกเบี้ย ทำให้คนกู้ไม่คิดที่จะชดใช้ ยิ่งไม่มีทั้งดอกเบี้ย ไม่มีคนค้ำประกัน นักศึกษาจะเอาเงินไปชำระหนี้มือถืออย่างเดียว แต่หนี้ กยศ.ทุกคนมองไม่ชำระก็ได้ ร่างกฎหมายนี้ทำให้ทุกคนขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึก คิดว่าไม่ใช่เงินพ่อแม่
พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.อภิปรายว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ไม่ชำระหนี้กยศ.ขณะนี้เพิ่มเป็น 26% ถ้ากฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เงินทุนหมุนเวียนในกองทุน กยศ.ปีละ 4 หมื่นล้านบาท จะหายไปปีละ 1 - 2 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 2 - 3 ปี เงินสะสมในกองทุน กยศ.ก็จะหมด เด็กรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้เรียน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเนื้อหาที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ไข มองว่าการศึกษาเป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่การให้กู้ยืมเงิน การออกกฎหมายกองทุนกู้ยืมเงินผิดมาตั้งแต่ต้น ไม่ควรให้เป็นการกู้ยืมเงิน แต่ต้องจัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชน ในช่วงใกล้เลือกตั้งพรรคการเมืองเกทับรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองให้ประชาชนได้มากกว่ารัฐบาล
ยิ่งใกล้เลือกตั้งประชาชนจะเลือกใคร ยิ่งภาวะปัจจุบัน อาจถูกกล่าวหาว่าขายชาติ จากนโยบายที่ออกมา ทั้งที่ไม่ได้ขายชาติ ทั้งนี้ ตนขอรับหลักการ และจะแปรญัตติเสนอให้รัฐต้องหางานให้ผู้เรียนจบได้ทำเพื่อมีรายได้ มาใช้หนี้และมีชีวิตอยู่ที่ดี