นายกฯ ถกทูตสหรัฐฯ ยันเข้าใจเหตุผล “โจ ไบเดน” ไม่มาร่วม APEC 2022

07 พ.ย. 2565 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2565 | 17:24 น.

นายกฯ หารือเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา รับเข้าใจเหตุผลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม APEC 2022 ที่ไทย พร้อมร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย วันนี้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า 

 

นายกรัฐมนตรี ฝากความปรารถนาดีไปยังประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งเข้าใจดีถึงเหตุผลที่ประธานาธิบดีไบเดน ไม่สามารถเดินทางร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 ที่กรุงเทพฯ แต่คาดว่าจะได้พบกันระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา 

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมให้การต้อนรับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 

 

นายกรัฐมนตรี หารือ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความยินดีในการเข้ารับหน้าที่ของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่เติบโตในช่วงเวลาที่ผ่านมา และในปีนี้จะครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูตในทุกมิติ 

 

ด้านเอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณการต้อนรับของรัฐบาลไทยและประชาชนไทย รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ อย่างมาก เอกอัครราชทูตฯ ตั้งใจทำงานเพื่อจะกระชับความสัมพันธ์ในทุกระดับให้แน่นแฟ้น ทั้งรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ ประชาชนต่อประชาชน 

 

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานของไทยเพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสการครบครอบ190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ โดยเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยในการจัดเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคฯ ซึ่งจัดเตรียมได้อย่างเรียบร้อยเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมด้วย 

 

นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามโมเดล เศรษฐกิจ BCG เช่น การขยายการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐฯ และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขับเคลื่อน เศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือด้านพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด

 

อย่างไรก็ตามไทยและสหรัฐฯ ต่างยืนยันการสนับสนุนบทบาทอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกันในภูมิภาค และอนุภูมิภาค โดยพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น อาเซียน ACMECS และ Mekong – US Partnership รวมทั้งกลไกที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้น เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด -แปซิฟิก (IPEF) 

 

ทั้งนี้ ไทยจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด และประสงค์ ที่จะเห็นความก้าวหน้าและประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนในภูมิภาค และในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ได้ขอบคุณและชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ผ่านทั้งช่องทางทวิภาคี กรอบอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ