วันนี้ (22 พ.ย.65) สำนักงาน ป.ป.ช. น.ส.รุ่งรวี คล้ายสุวรรณ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่ามีการกระทําที่เข้าข่ายความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
กรณีปรากฏข่าวว่า น.ส.สารี ล่วงรู้ถึงเงื่อนไขการควบรวมกิจการ 14 ข้อ อันเป็นความลับทางราชการที่ยังไม่ได้มีการอนุญาตเปิดเผยข้อมูลความลับ ดังปรากฎในการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนสำนักต่างๆ อาทิ มติชน ออนไลน์ ฉบับวันที่ 26 ก.ย. 2565 ที่พาดหัวข่าวว่า “เปิด 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภค หาก ‘กสทช.’ ไฟเขียวดีลทรู-ดีแทค” มีเนื้อหาข่าวเป็นการรายงาน เปิดเผยถึงข้อมูลความลับทางราชการเกี่ยวกับมาตรการเฉพาะ 14 ข้อ
โดยมี น.ส.สารี ให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์มาตรการเฉพาะ 14 ข้อ เอาไว้ด้วย จึงเป็นการยืนยันได้ว่า น.ส.สารีเป็นบุคคลอื่นที่ได้ล่วงรู้และน่าจะนําข้อมูลความลับเกี่ยวกับมาตรการเฉพาะ 14 ข้อ อันเป็นความลับราชการมาเปิดเผย เช่นเดียวกับ วันที่ 14 ต.ค. สำนักข่าว ท๊อปนิว ออนไลน์ พาดหัวข่าวว่า “ สารี” โพล่งเอกสารหลุด กสทช. คนไหนจะรับผิดชอบ?” ระบุถึงรายงานการศึกษาของ กสทช. ที่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ด้วยงบประมาณสิบล้านบาท และวันเดียวกันได้มี พาดหัวข่าวอีกกรณีว่า “รักษาการเลขาฯ กสทช.ถาม “สารี” เอามาจากไหนผลศึกษาตปท. มั่นใจ 20 ต.ค. จบผนึกTRUE- DTAC”
“จากการติดตามเรื่องนี้และพิจารณาเนื้อหาข่าวจากหลายสำนักแล้ว เห็นว่า มาตรการเฉพาะ 14 ข้อ ที่จะใช้เยียวยาผู้บริโภค ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และการเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาที่ กสทช.ว่าจ้างบริษัท SCF Associates Ltd. เข้าข่ายเป็นความลับของทางราชการ เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช. ยังไม่ได้มีการเปิดเผยหรืออนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะล่วงรู้ก่อนวันเปิดเผยข้อมูล ดังนั้น การกระทำของ น.ส.สารี จึงเข้าข่ายเป็นความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และเป็นข้อพิรุธว่าเหตุใดจึงล่วงรู้ข้อมูลความลับและนำมาเปิดเผยได้ ประกอบกับพฤติกรรมระหว่าง น.ส.สารี กับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่เป็นกลาง สร้างกระแสต่อต้านและชี้นำการควบรวมกิจการในครั้งนี้มาโดยตลอด จึงเชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม หรืออาจมีส่วนเป็นผู้สนับสนุนในการกระทําผิดฐานเปิดเผย ข้อมูลความลับของทางราชการ ด้วยเจตนาไม่สุจริต เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” น.ส.รุ่งรวี กล่าว
น.ส.รุ่งรวี เชื่อด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว น.ส.สารี ในฐานะเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค น่าจะจงใจที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายและความเป็นกลางต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการพิจารณาเรื่องดังกล่าวของคณะกรรมการ กสทช. อีกทั้งยังเป็นการชี้นําและโน้มน้าวให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับมาตรการเฉพาะ ที่จะเกิดขึ้นกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค อย่างไม่เป็นธรรมและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จึงขอให้ ป.ป.ช. ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส. สารี ในฐานะเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าเป็นการเข้าข่ายเป็นการกระทําที่ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการใดหรือไม่ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ขณะนี้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้มีการยื่นฟ้อง กสทช.กรณีการควบรวมทรู -ดีแทค ต่อศาลปกครองกลางแล้ว น.ส.สารี และคณะ ควรหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านและชี้นำ เพราะจะเป็นการกดดันการพิจารณาของศาล
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 น.ส. รุ่งรวี ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประจำประธานกรรมการ กสทช. ในประเด็นการเปิดเผยข้อมูล"เงื่อนไข 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภคกรณีควบรวมทรู-ดีแทค" ต่อสาธารณะผ่านสื่อสารมวลชนมาแล้ว ซึ่งอยู่ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.