การปรากฎตัวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ในห้องประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะผู้ชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... หรือร่างรธน.ฉบับปลดล็อคท้องถิ่น ซึ่งเป็นหมวดการปกครองท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร และประชาชน 76,591 คนเสนอ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ถูกส.ว.หลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า 2 แกนนำคณะก้าวหน้า มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง มากกว่าต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหยิบยกคำชี้แจงของนายธนาธร ที่เชื่อว่าการแบ่งสรรอำนาจ จัดสรรงบที่เป็นธรรม ตามร่างปลดล็อคท้องถิ่น จะทำให้เป็นจริงได้ ภายใน 10 - 15 ปี เสนอให้ทำประชามติภายใน 5 ปี ต่อการยกเลิก ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้ากับส่วนท้องถิ่น ซึ่งระยะเวลา 5 ปี จะเป็นช่วงที่สังคมไทยถกเถียงในเรื่องดังกล่าว
ยิ่งกว่านั้น ในการชี้แจงของนายปิยบุตร ที่ย้ำถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อยืนยันการกระจายอำนาจในประเทศไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร และรัฐเดียว และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร หรือเข้าใจผิดว่า ต้องการแบ่งแยกดินแดน
ไม่แปลกที่นายนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกาศกลางสภา ไม่ยอมรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำผิดรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 มาตรา คือ มาตรา1 ว่าด้วยการแบ่งแยกราชอาญาจักร หากให้ท้องถิ่นมีความอิสระในหลายรูปแบบ ลามถึงมาตรา 2 ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา5 ที่รับรองให้รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือการกระทำใด ที่ขัดหรือแย้ง เป็นอันใช้ไม่ได้ มาตรา 77 คือการรับฟังความเห็นประชาชน ที่ผมบอกแล้วว่า ประเด็นเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่ได้รับฟังความเห็น และมาตรา 255 ว่าด้วยข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่ทำนี้คือการสนับสนุนคนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่”
ส.ว.จเด็จ ยังแสดงความแปลกใจ ต่อการผลักดัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ว่า เป็นความเคลื่อนไหว ที่มีความสอดคล้อง แบบมีลับลมคมนัยบางอย่าง โดยสะท้อนจากจากท่าทีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ว่า หากเป็นรัฐบาล จะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จัดเลือกตั้งนายกจังหวัด
ถัดมาเพียง 4 วัน (30 พ.ย. ) ก็ถึงวาระการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น และมี 2 แกนนำคณะก้าวหน้ามาชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีส.ว. หลายคน สะท้อนว่า บทบัญญัติที่เสนอแก้ไขนั้น ยากต่อการปฏิบัติ เพราะกำหนดรายละเอียดและเขียนเนื้อหาที่มีลักษณะสุดโต่ง และ สุดกู่!!
ที่สำคัญไม่ต่างจากการการปกครองแบบ รัฐอิสระดีๆนี่เอง
สอดคล้องกับ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว”ที่สะท้อนเนื้อหาของ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น” ว่า เป็นข้อเสนอที่ผิดหลักวิชา และขาดความรู้จริงด้านการกระจายอำนาจ พร้อมทิ้งประโยคชวนคิดในตอนท้ายว่า
“การกระจายอำนาจมาเป็นข้ออ้าง แต่ความจริงมีจุดมุ่งหมาย ในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และอาจมีจุดประสงค์อื่นซ่อนเร้น”
น่าคิดว่า ความเห็นของ ดร.นิว และส.ว.หลายคน ตั้งข้อสังเกต สิ่งซ่อนเร้นที่แฝงมากับข้อเสนอปลดล็อคท้องถิ่น อาจหมายความถึง ห้วงเวลาปลดล็อคท้องถิ่น จะทำให้เป็นจริงได้ ภายใน 10 - 15 ปี อย่างที่นายธนาธร ตอกย้ำหรือไม่
เพราะสอดคล้องกับเงื่อนเวลา ที่นายธนาธร จะกลับเข้าสู้เส้นทางการเมืองอีกครั้ง ในราวปี 2572 หลังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ส่งผลให้ นายธนาธร และกรรมการบริหารพรรค ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลา 10 ปี
จากกรณีนายธนาธร ขณะเป็นหัวหน้า อนาคตไทย ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
นั่นย่อมหมายความว่า ราวปี 2572 นายธนาธร จะพ้นบ่วงจากการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง และจะก้าวเข้าสู่สนามการเมืองได้อีกครั้ง
ไม่แปลกที่ ส.ว.หลายคนตั้งป้อมถล่ม แนวคิดการปกครอง แบบสุดโต่ง !!