นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่ ไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 ได้หย่อนบัตรชี้ชะตาอนาคตประเทศไทยกันแน่นอน หลายพรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันคึกคัก ทั้งการออกนโยบายใหม่ๆ เพื่อเรียกคะแนนนิยม มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.กันตลอดเวลา
แต่การจะได้เลือกตั้งเร็ว หรือ ช้า คนที่ “คุมเกม” ก็คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพราะอำนาจการ “ยุบสภา” อยู่ในมือบิ๊กตู่แต่เพียงผู้เดียว
ส่วนอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แย้มๆ ออกมาว่าจะ “ไปต่อ” แต่ก็ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการเสียที
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนออกเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Commemorative Summit) ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค.2565 ตอนหนึ่งระบุว่า
“ก็เป็นห่วงอย่างเดียว คือ เรื่องปัญหาความขัดแย้ง ลดๆ กันเสียบ้าง เสนอข่าวอะไรก็เบาๆ หน่อย สิทธิที่เขาจะพูดอะไรก็พูดได้ ไม่อย่างนั้นจะมีผลกับการทำงาน ในเวลานี้หลายอย่างจะต้องดำเนินการต่อ หนึ่ง สอง สาม ผ่านระยะที่ 1 ก็ต้องมีระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ไปทำต่อ ถ้าพูดกันแล้วขัดแย้งกันไปทุกเรื่องจะไปได้อย่างไร วันเวลาที่เหลืออยู่ก็มีเวลาไม่มากนักหรอก ของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างว่าไปตามนั้นหมด”
เมื่อถามถึงกรณีผลสำรวจนิด้าโพล ที่คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ น้อยลง นายกฯ ตอบว่า “ไม่รู้โพลใครทำก็ไม่รู้ ใครทำ ใครตอบ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่มีผลอะไร” ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ผลโพลจะส่งผลต่อการตัดสินใจ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี
เมื่อถามว่ากลับมาจากต่างประเทศครั้งนี้ จะแสดงท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจน ได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “กลับมาค่อยว่ากัน”
รอดูกันไปว่าหลังจากกลับจากต่างประเทศ 15 ธ.ค.นี้แล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” จะประกาศความชัดเจนทางการเมืองใดๆ หรือไม่
วิเคราะห์เกมประยุทธ์
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงทิศทางการเมืองต่อจากนี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนอนาคตอาจ “ไปต่อ” ผ่านเนชั่นทีวี ว่า การเมืองโดยรวมมีการขีดเส้น อยู่มาก หรือ อยู่น้อย การอยู่ครบเทอมของนายกฯ รวมไปถึงวาระสภา แน่นอนอะไรขนาดนั้นหรือไม่
ระบบรัฐสภาต่างจากระบบประธานาธิบดี ที่ผู้นำฝ่ายบริหารมีความชัดเจน โดยเลือกแยกกับฝ่ายนิติบัญญัติ และล็อกเทอม แต่ระบบรัฐสภา ไม่ได้ล็อกตัวนายกฯ ควรจะอยู่กี่ปี ได้น้อยหรือไม่ ซึ่งระบบรัฐสภาจริงๆ แบบดั่งเดิม ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลา แค่กำหนดให้เลือก ส.ส. มาเลือกนายกฯ
แต่ประเทศไทยอยู่ในแบบคร่อม คือ ประธานาธิบดี กับระบบรัฐสภา จึงจำเป็นต้องกำหนดระยะเวลา หรือพูดง่าย มีการปฏิวัติบ่อย แล้วเหล่าบรรดาพลเอก ก็เข้ามาฝ่ายบริหาร หรือหาคนเป็นพรรคพวกมานั่งในฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นระบบผูกขาดเหมือนประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม กลไกระบบรัฐสภา โดยเฉพาะนิติบัญญัติ มีความแปลก คือ ส.ส. อยากเป็นรัฐมนตรี และรัฐมนตรี อยากเป็นนายกฯ ทำให้ความรับผิดชอบการเมืองน้อย มารยาทการเมืองต่ำ ซึ่งระบบรัฐสภาจริงๆ ไม่ผูกขาด อย่าง อังกฤษ นอร์เวย์ สวีเดน และ ระบบรับสภา หัวหน้าหน้าพรรคต้องมีกลไก เพื่อพาพรรคไปให้ได้เสียงข้างมาก และมีพลวัตจากความต้องการของประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยน แต่ของไทยแตกต่าง
ส่วนเกมของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจอาศัยช่องนี้ คือ หมดสมัยก็เริ่มใหม่ อยู่ 2 ปี ใครจะขึ้นมาต่อจากนั้นก็แล้วแต่
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พูดเลย หรือทุกๆ พรรค อยากแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเพื่อไทย ก้าวไกล ไม่อยากให้มี 8 ปี (วาระนายกฯ) รวมถึงส.ว. ท้ายที่สุดแก้รัฐธรรมนูญ ยกยวงเอา 8 ปี ออก และหากมีผลย้อนหลังได้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์ ดำรงตำแหน่งได้อีก ซึ่งเชื่อว่าคิดเงื่อนไขนั้นไว้อยู่
“สุดท้าย บิ๊กตู่ ลาออก คือ ผิด ยุบสภา คือ แพ้ ไม่ไปต่อ คือ ยอม แต่วันนี้ไปต่อมากน้อยแค่ไหน อาจเผื่อเหลือเผื่อขาด หรืออยู่เพื่อแก้ปัญหาประเทศจริง แต่เชื่อว่าน้อยกว่าประเด็นการเมือง ที่กั๊กไว้ในเรื่องยุบสภา หรืออยู่ครบเทอม เพราะยังไม่ใช่เวลามาพูด เนื่องจากความได้เปรียบการเมืองยังอยู่ในมือ เตะถ่วงไปก่อน ให้บรรดาผู้คนเดาได้บ้าง แต่ก็ยังมีพื้นที่เดาผิดเดาถูก”
“บิ๊กตู่”มีไพ่หลายใบ
รศ.ดร.เจษฎ์ มองด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เป็นจำเป็น เพราะมีเวลาคิดไปถึงต้นเดือน ก.พ.66 สมมุติอยู่ครบเทอม เลือกตั้ง 7 พ.ค. จะต้องเป็นสมาชิก 90 วัน นับย้อนไปวันที่สมัคร คือ 7 ก.พ. ดังนั้น อาจค่อยไปตัดสินใจวันที่ 4 หรือ 5 ก.พ. ก็ได้ หรือถ้าปล่อยเลย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือยุบสภาเดือน มี.ค. ก็สังกัดพรรค 30 วัน
“บิ๊กตู่ ยังมีไพ่หลายใบ ยังไม่ทิ้งตอนนี้ ต่อให้ยุบก็จะทิ้งจนใกล้ครบสภามากที่สุด คือ ยุบเพื่อประโยชน์การเมืองบางประการ ดูทรงการเมืองไปเรื่อยๆ ดูคนนั้นคนนี้กดดัน หากไม่ลงรอยกันจริง ก็กดดันบิ๊กป้อม ด้วย สุดท้ายไม่รู้จะแตกหรือแยก แต่เผื่อเหลือเผื่อขาดทุกฝ่าย เช่น ฝ่ายเสรีนิยม อย่าง เพื่อไทย พาคนหลักออกจากกรรมการบริหาร หากคิดว่าโดนยุบพรรค จะเทตอนไหน ว่าบิ๊กตู่ยุบสภาหรือไม่ตอนไหน หรือ พรรคถูกยุบ” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
“บิ๊กตู่”เดินการเมืองต่อ
ด้าน รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนของอนาคตทางการเมือง แม้จะเป็นครั้งแรก แต่มองว่า ท่าทางหรือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงให้เห็นชัดมานานแล้ว ว่าจะยังเดินบนเส้นทางการเมืองต่อจนครบวาระ
“ที่ต้องออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะไปร่วมกับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนี้ยังเติบโตช้ากว่าที่คาด ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้คนเข้าพรรค จึงต้องชัดเจนว่าตัวเองนั้นจะเข้าร่วมกับพรรคที่กำลังจะไป”
รศ.สุขุม ชี้ด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ถึงขั้นลงรับเลือกตั้งส.ส.เอง แต่คงนั่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือ อาจจะมีตำแหน่งใหญ่ภายในพรรค วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าไปแสดงให้คนเห็นถึงความชัดเจน เพราะวันนี้ความเติบโตของพรรคที่จะไปร่วมดู “ช้า” เพราะความไม่เต็มตัวของ พล.อ.ประยุทธ์
“ผมมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยุบสภา เพราะนี่คือความได้เปรียบอย่างหนึ่ง แต่ถ้ายุบ ก็ยุบในช่วงเวลาที่สะดวกต้องสะดวกต่อการย้ายพรรค หรือไม่เกินช่วง มี.ค. 2566”
ยุบสภาเกิดได้ทุกเมื่อ
ขณะที่ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ว่า แม้นายกฯ จะมีความชัดเจนขึ้นในทางการเมือง แต่ก็ยังคงบุคลิก หรือ สไตล์เดิม คือ สงวนท่าที
“ยกตัวอย่าง สมัยพรรคพลังประชารัฐ โดยรอให้คนในพรรคมาเทียบเชิญ แต่คนในสังคมตอนนั้นก็รับรู้อยู่แล้วว่า จะไปพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับครั้งนี้ เพียงแต่รอให้พรรคที่สนับสนุน เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม และไปเชิญมาประดิษฐาน”
รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า แต่บุคลิกการเมืองแบบนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าไม่เป็นผลดีทางการเมืองนัก เพราะหากตัดสินใจแต่ต้นๆ คนสนับสนุนก็จะได้มีกำลังใจทำงานการเมืองมากกว่านี้
ส่วนการยุบสภา มองว่า นายกฯ ยังไม่คิด เพราะนายกฯ ต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าไม่แตกต่างจาก “โทนี่ วู้ดซัม” คือ “อยู่ครบเทอม” เพื่อสะท้อนบารมี ความสามารถ และภาวะความเป็นผู้นำ
“แต่ในทางการเมืองแล้ว การยุบสภาเกิดได้ทุกเมื่อ หากประเมินแล้วได้เปรียบในเรื่องของคะแนนนิยม หรือสิ่งต่างๆ ลงตัว เพื่อนายกฯ จะได้มีภาพลักษณ์อยู่ครบเทอม และลบข้อครหาก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะยุบสภาหลังปีใหม่”
สำหรับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถ้านายกฯ เลือกเล่นแบบนี้ ดูแต่ต้นๆ นายกฯ จะไม่มาเต็มตัว ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต แต่การเมืองต้องเสนอนัยยะ ประธานพรรค เพื่อทำให้การหาเสียงเข้มข้มขึ้น ทำให้คนชื่นชอบ
“เกมแบบนี้ไม่เหมือนปี 2562 ต้องแสดงชัดมากกว่า เพื่อให้คนสนับสนุนมั่นใจในการเลือกตั้ง แต่นายกฯ ยังถือไพ่ได้เปรียบทุกด้าน แค่รอดูหน้าเสื่อ ทุกอย่างแล้วแต่นายกฯ อยู่ครบ 4 ปี เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากร เว้นแต่ยุบสภานอกจากพรรคร่วม ทะเลาะกัน ก็อาจเป็นปัจจัยให้ต้องยุบ” รศ.ดร.โอฬาร ระบุ