คดีมันเส้นจีทูจี "ไตรรงค์-พรทิวา" หลุดบ่วง "บุญทรง" โดนฟันซ้ำ 

21 ธ.ค. 2565 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 14:19 น.

ป.ป.ช. ชี้มูลคดีซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี "ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" และ "พรทิวา นาคาศัย" หลุดบ่วง ขณะที่ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" โดนฟันซ้ำอีกรอบ

21 ธ.ค.2565 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานที่ประชุม นำสำนวนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการซื้อขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวม 3 สำนวน ได้แก่ กรณีกล่าวหาการซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี คือ

1.กรณีกล่าวหานางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก

2.กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก

3.กรณีกล่าวหานายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก

โดยที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติ 5:2 ไม่ชี้มูลความผิด นางพรทิวา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ หลักฐานพบเพียงความบกพร่อง และด้วยได้พ้นตำแหน่งไปแล้วจึงถือว่าตกไป

ส่วนกรณีของ นายไตรรงค์ ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้รับรู้รับทราบ จึงไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา

สำหรับกรณีของนายบุญทรงนั้น ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิด ฐานเดียวกับเมื่อครั้งถูกชี้มูลในคดีจำนำข้าวภาคแรก ซึ่งขณะนี้เจ้าตัวต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำอยู่

 

อย่างไรก็ดี สำหรับการชี้มูลผิดของ ป.ป.ช. ในครั้งนี้เป็นเพียงกระบวนการชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังมีสิทธิต่อสู้คดีได้ในชั้นอัยการและชั้นศาล ถือว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งหมดจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

สำหรับคดีซื้อขายมันเส้นจีทูจีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฏชื่อผู้ถูกกล่าวหารวม 31 ราย ได้แก่ ผู้เจรจา ผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผู้ลงนามในสัญญา และผู้เกี่ยวข้องกับซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ โดยสรุปพฤติการณ์ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสัญญา ซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จำนวนรวม 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท

 

บริษัทที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนของราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่บริษัทที่ได้รับมอบหมายหรือรับมอบอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

 

การกระทำนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเอื้ออำนวยหรือช่วยเหลือให้บริษัทดังกล่าวได้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายหรือหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ประกอบกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องของราคาที่ซื้อขาย

 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ให้ความเห็นชอบในราคาตามข้อเสนอของบริษัท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าข้อเสนอของฝ่ายไทย เว้นแต่สัญญาที่ 2/2013 ซึ่งเสนอราคาเท่ากันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน การกระทำดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง