เปิดชื่อ ส.ส.ทำสภาล่ม "ชวน"ยัน "ยุบสภา" ไม่ช่วยแก้ปัญหา

19 ม.ค. 2566 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 10:06 น.

เปิดชื่อ ส.ส.ทำสภาฯล่ม ขณะถกร่างกม.กัญชา พบหัวหน้าทุกพรรค ไม่มาร่วมประชุม ชี้การยุบสภาไม่ใช่ทางแก้ปัญหาสภาล่ม วอน ส.ส. ใช้เวลาที่เหลืออยู่ดันกฎหมาย

กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ( 18 ม.ค.66)  เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... วาระสอง  เกิดเหตุการณ์ สภาล่มซ้ำซาก  หลังผ่านไปเพียง 22 นาทีเท่านั้นและไม่สามารถผ่านการพิจารณามาตราใดๆได้ โดยพบว่ามี ส.ส.ร่วมลงมติไม่ครบองค์ประชุม คือ 203 คนเท่านั้น

  ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เผยแพร่ผลการลงมติในวาระดังกล่าว พบว่า  มีส.ส.ที่หายจากการร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยแยกเป็นรายพรรคได้แก่ 

  พรรคเพื่อไทย 121 คน  ไม่อยู่ร่วมโหวต 86 คน หรือคิดเป็น 71.07% ซึ่งจำนวนดังกล่าว พบว่า มีส.ส.ระดับแกนนำร่วมด้วย อาทิ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย,นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค, นายสุทิน คลังแสง  ส.ส.มหาสารคาม และประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นต้น

การประชุมสภาฯ

พรรคพลังประชารัฐ 79 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 35 คน คิดเป็น 44.3%  โดยพบว่า ส.ส.ระดับแกนนำที่ไม่ร่วมลงมติ อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

พรรคภูมิใจไทย 62 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 9 คน คิดเป็น 14.51% โดยพบว่ามีส.ส.ระดับแกนนำไม่อยู่รวม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม,

 พรรคประชาธิปัตย์ 50 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 32 คน คิดเป็น 64%  โดยพบว่าส.ส.ระดับแกนนำที่ไม่ร่วมลงมติ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์, นายเดชอิศม์ ขาวทอง ,นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข,  นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี , 

  พรรคก้าวไกล 45 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 22 คน คิดเป็น 48.88 % โดยพบส.ส.ระดับแกนนำ ที่ไม่รวมลงมติ อาทิ  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, นางอมรัตน์ ไชคปมิตต์กุล

 
พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 6 คน คิดเป็น 50 % โดยส.ส.ที่ไม่ร่วมลงมติ ล้วนเป็นระดับแกนนำพรรค อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานะหัวหน้าพรรค, นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ฐานะเลขาธิการพรรค, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรค, 

   พรรคเศรษฐกิจไทย 11 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 7 คน คิดเป็น 63.63% พบว่าคนที่ขาด อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค, นายยุทธนา โพธสุธน, นายไผ่ ลิกค์ 

 พรรคเสรีรวมไทย 10 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 5 คน คิดเป็น 50% อาทิ  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค,  นพ.เรวัต วิศรุตเวช, น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา, พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าเวลาที่เหลืออยู่ของสภาเป็นสิ่งมีค่า แม้จะดูสั้นเมื่อเทียบกับระยะเวลา 4 ปี แต่ยังสามารถพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้มาก ทั้งเรื่องเพื่อทราบ

เรื่องที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งบางชุดเสียงบประมาณเป็นล้านในการทำงาน และใช้เวลาศึกษากันมาเป็นปี หากไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาก็จะเป็นเรื่องที่เสียโอกาส และเสียเวลา

 ดังนั้นจึงตั้งใจจะให้ผ่านสภาไปให้ได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ และเห็นว่าข้อเสนอของ ส.ส. บางคนที่เสนอให้ยุบสภา เพราะมีปัญหาสภาล่มนั้น เห็นว่าการเสนอยุบสภาไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นข้อเสนอตัดความรำคาญเฉพาะหน้า ซึ่งเท่าที่สังเกตจากที่นั่งเป็นประธานการประชุมจะเห็นว่า เวลาเช็คองค์ประชุมจะใช้เวลานานแต่พอถึงเวลาลงมติเสียงจะมากกว่า

แสดงว่ามีผู้ไม่แสดงตนแต่พอเห็นว่าองค์ประชุมครบก็ลงมติ จึงขอร้อง ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอย่าใช้วิธีการหนีปัญหา แต่ควรอยู่ร่วมกันทำงานโดยเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายที่เห็นพ้องเลื่อนขึ้นมา และเชื่อว่าหากครบองค์ประชุมก็สามารถพิจารณาเสร็จได้

“ผมก็หวังและขอความร่วมมือด้วยตัวเอง และบอกว่าอย่าใช้วิธีหนีปัญหา และต้องใช้วิธีสู้ปัญหา เชื่อว่าสามารถทำได้ และหวังว่าคำขอร้องวันนี้ทุกคนน่าจะ ร่วมมือให้องค์ประชุมดีขึ้น ก็เห็นใจท่านรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็รับปากว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีเข้าสังกัดพรรคการเมืองแล้ว ก็ขอร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลใส่ใจ” นายชวนกล่าว