วันที่ 26 มกราคม 2566 นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส
พร้อมทั้งมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 กลุ่ม และมอบนโยบายการขับเคลื่อน โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รองผวจ.ปัตตานี นายอำเภอกะพ้อ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 14 กลุ่ม และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ สนามฟุตบอลตำบลปล่องหอย หมู่ที่ 5 ตำบลปล่องหอย อำเภอกะพ้อจังหวัดปัตตานี
โดยกองบริหารกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาอนุมัติ สัญญายืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคให้กับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 14 กลุ่ม 14 โครงการ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพ
การเลี้ยงโคเนื้อ และยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน รวมวงเงินทั้งสิ้น 54,149,600 บาท
ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จำนวน 13 กลุ่ม 13 โครงการ วงเงิน 50,538300 บาท และในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจำนวน 1 กลุ่ม 1 โครงการ วงเงิน 3,611,300 บาท
นายนิพนธ์ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส และ มอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 กลุ่ม โดยมีตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ มารับมอบจากรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ
นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร
เช่น โครงการเมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ โดยกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และการพัฒนางานด้านการเกษตร ได้มีการมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การพัฒนาส่งเสริมสินค้า และผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน "ฮาลาล" ในพื้นที่ชายแดนใต้ การพัฒนาแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้ นโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มุ่งเน้นการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายซึ่งการสนับสนุนสินเชื่อเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และ จังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค การผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
การปลูกแปลงพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และ การแปรรูปโคเนื้อคุณภาพสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อความมั่นคง และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่เกษตรกรให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และจะเป็นการพัฒนาเพื่อต่อยอด เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ต่อไป
“เราอยากเห็นโครงการนี้ประสบความสำเร็จ และเป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ผมเชื่อว่าการรวมกลุ่มอย่างนี้จะเกิดในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและเกษตรกรของเรามีองค์ความรู้ ทางด้านวิชาการ มีความรู้ด้านบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด ทำอย่างไรให้เกิดกำไรสูงสุด
ฉะนั่น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรารวมกลุ่มกันและเรียนรู้กัน นี่คือจะเป็นปัจจัยเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างกลุ่มต้นแบบ การนำไปสู่ความสำเร็จในการทำให้พื้นที่ภาคใต้ชายแดน เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก โดยมุ่งเน้นว่าจะทำอย่างไร จะสร้างโอกาสให้คนเชื่อมั่นว่า อาหารที่มาจากประเทศไทย เป็นอาหารที่มีคุณค่า ถูกสุขลักษณะตามหลักการฮาลาล”
ต่อจากนั้น นายนิพนธ์ ได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ ซึ่งจัดโดยหน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ และพบปะกับพี่น้องเกษตรกรที่มาร่วมในงานครั้งนี้