เป็นช่วงสุดท้ายของการทำหน้าที่ของรัฐบาลชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา152 เป็นวันที่ 2 เรียกได้ว่า ไม่มีอะไรหวือหวาหรือน่าตื่นเต้นแต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านจะประกาศครึกโครมเปิดตัวแคมเปญ กระชากหน้ากากคนดี เพื่อสร้างกระแสให้เกิดขึ้นก็ตาม
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติในครั้งนี้นั้นเป็นไปตามระบบของการเมือง พรรคฝ่ายค้านไม่มีอะไรใหม่
ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า ทำแบบแกน ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะการอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้ไม่มีผลอะไรต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคฝ่ายค้านใช้เป็นช่องทางในการหาเสียงเท่านั้น
"ถ้าประชาชนติดตามตลอดก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีประโยชน์อะไร ยังเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เคยพูดกันในสภามาแล้ว"
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 - 16 ก.พ. 2566 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาฯ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ต้องการซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ โดยจะใช้เวลาอภิปราย จำนวน 32 ชั่วโมง แบ่งเป็น ของพรรคฝ่ายค้านได้เวลา 24 ชั่วโมง ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ชั่วโมง
โดยวันที่ 15 ก.พ. 2566 ได้เริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 09.30 น. และพักการประชุมเมื่อเวลา 01.30 น.ของวันที่ 16 ก.พ. 2566 ซึ่งฝ่ายค้านมีสิทธิอภิปรายได้ตั้งแต่ 09.30 - 24.30 น. ส่วน ครม.และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ในวันแรกถูกตีกรอบการชี้แจงไว้ 5 ชั่วโมง
สำหรับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 24.00 น. โดยฝ่ายค้านได้เวลาซักถามให้คำแนะนำจำนวน 12 ชั่วโมง ส่วนการตอบคำถามและชี้แจงของ ครม.ได้เวลา 3 ชั่วโมง