วันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับพวก รวม 33 ราย กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริเวณโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้า ระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน
นายนิวัติไชย กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นกรณีกล่าวหา นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับพวก รวม 33 ราย ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ บริเวณโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้า ระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) เป็นการหลีกเลี่ยงระเบียบการเคหะแห่งชาติว่าด้วยการขายที่ดิน พ.ศ. 2548 ฝ่าฝืนมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับความเสียหาย
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและมีมติเห็นชอบหลักการกรอบแผนการลงทุนและอนุมัติโครงการพัฒนา ที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 ซึ่งมีโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ร่มเกล้าระยะที่ 10 (พาร์ควิลล์ ร่มเกล้า) มีแผนที่จะก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำนวน 269 หน่วยในพื้นที่กว่า 35 ไร่รวมอยู่ด้วย
ต่อมามีนายประเสริฐ บินอานัด กับพวกรวม 8 ราย (เจ้าของที่ดินที่มีพื้นติดกับที่ดินของการเคหะแห่งชาติ) ได้ร่วมมือกับนายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์ นายหน้าค้าที่ดิน กับพวกรวม 3 ราย
โดยมอบอำนาจลอย ระบุว่า ผู้มอบอำนาจได้มอบอำนาจให้นายหน้าเป็นผู้ดำเนินการยื่นเสนอขอซื้อที่ดินในโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติแล้วจำนวนเนื้อที่ 260 ตารางวา ความกว้าง 22 เมตร ความยาว 47 เมตร ทั้งที่ นายประเสริฐ บินอานัด กับพวกรวม 8 ราย ไม่มีความประสงค์ที่จะซื้อที่ดินในโครงการดังกล่าวตั้งแต่แรก
เนื่องจากสามารถเข้าออกที่ดินผ่านทางเดินริมคลองได้อยู่แล้วและไม่มีเงินเพียงพอที่ซื้อได้ แต่เป็นความประสงค์ของ นายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์ นายหน้าค้าที่ดินกับพวกรวม 3 ราย ที่ต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ใช้เป็นทางเข้าออกของโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ฝ่ายนายหน้าได้รวบรวมที่ดินแปลงใหญ่ จำนวนกว่า 170 ไร่ ไว้ก่อนแล้ว
เมื่อการเคหะแห่งชาติ ได้รับคำเสนอซื้อแล้วได้มีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงโครงการด้านกายภาพ (คณะหนึ่ง) ซึ่งมีนายชวนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาการเสนอซื้อที่ดินของนายหน้า และมีมติขายที่ดินระบุให้สิทธิโดยตรง
เนื่องจากเป็นที่ดินตาบอดไม่มี ทางเข้า - ออกสู่ทางสาธารณะ
คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาโดยไม่ได้มีการตรวจสอบคำเสนอซื้อ ทั้งที่ในคำเสนอซื้อสามารถพบข้อพิรุธที่ควรต้องตรวจสอบ เช่น ระบุความประสงค์ว่าต้องการที่ดินเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรบ้านเดี่ยว 2 ชั้นจำนวน 145 หน่วย, สำเนาโฉนดที่อ้างว่าเป็นที่ดินตาบอดไม่มีหน้าสารบัญเพื่อใช้ยืนยันตัวตนผู้มอบอำนาจได้ เป็นต้น
จากนั้น นางสาวบังอร ทองส่งโสม กับพวกรวม 5 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทรัพย์สินและอาคารเช่าที่มีหน้าที่ตรวจสอบ คำเสนอซื้อ แต่ละเว้นไม่ดำเนินการการตรวจสอบ ทำให้ไม่ทราบถึงพฤติการณ์การขอซื้อที่ดินของนายหน้าเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ และได้เสนอเรื่องให้ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พิจารณาอนุมัติขายที่ดินดังกล่าว
นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ได้มีคำสั่งอนุมัติโดยไม่ได้มีการตรวจสอบทั้งที่รู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าว เป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดทำโครงการพาร์ควิลล์ ร่มเกล้าแล้ว และการอนุมัติขายที่ดินของผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการขายยื่นซองเสนอซื้อ หรือ การประกวดราคาตามระเบียบการเคหะแห่งชาติว่าด้วยการขายที่ดิน พ.ศ. 2548 ข้อ 7
หลังจากที่ นายกฤษดา รักษากุล อนุมัติขายที่ดิน นายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์ กับพวกรวม 3 ราย ได้ไปทำความตกลงกับ นายนันทวัฒน์ พิพัฒวงศ์เกษม กรรมการ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ว่าบริษัทจะรับผิดชอบเงินที่ต้องชำระค่าที่ดินจำนวนกว่า 28 ล้านบาท โดยการสั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับจ่ายโดยตรงให้กับการเคหะแห่งชาติ ฉบับแรกจำนวน 5.8 ล้านบาท และฉบับที่ 2 กว่า 23 ล้านบาท
จากนั้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 การเคหะแห่งชาติได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 48160 ให้กับนายประเสริฐ บินอานัด กับพวกรวม 8 ราย โดยมีนายหน้าทำการแทนทั้งในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้ซื้อและผู้ขาย ให้กับบริษัท แอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)) จากนั้นบริษัท แอตแลนติก เรียลเอสเตท จำกัด ได้มอบแคชเชียร์เช็คให้กับการเคหะแห่งชาติจนครบถ้วน
ทั้งนี้ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบคำเสนอซื้อดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันทุจริต หลีกเลี่ยงการขายที่ดินตามระเบียบการเคหะแห่งชาติว่าด้วยการขายที่ดิน พ.ศ. 2548 จากวิธียื่นซองเสนอราคาเป็นวิธีให้สิทธิโดยตรง ฝ่าฝืนมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายหน้า ชาวบ้านผู้ขอซื้อ และ กลุ่มบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อที่ดินตามที่วางแผนไว้เพื่อจัดทำเป็นถนนเข้า - ออกสู่โครงการหมู่บ้านจัดสรร
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
การกระทำของ นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ, นายชวนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ นางพัชรวรรณ สุวปรีชาภาส นายประภาส สัมมาชีพ นายสุเมธัส ชูจิตารมย์ นายวิญญา สิงห์อินทร์ และ นางจงรัก เฉลิมเกียรติ ในฐานะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงโครงการด้านกายภาพ (คณะหนึ่ง) มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)
และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การตัด หรือ ลดขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และ การอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน ข้อ 38
สำหรับ นายสมคิด จารุมาศมงคล นายมานิตย์ ตันติเสรี นางสาวกัลยา พึ่งคง และ นายสมบูรณ์ พรหมหาราช ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงโครงการด้านกายภาพ (คณะหนึ่ง) ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายแทนกรรมการฯ นั้น ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่การเคหะแห่งชาติ ด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังและรักษาผลประโยชน์ของการเคหะแห่งชาติ ตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุการแต่งตั้ง ข้อ 28
การกระทำของ นายวิญญา สิงห์อินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานสินทรัพย์, นางสาวบังอร ทองส่งโสม นายนันทพล ทองพ่วง นางกิตติมา รุ่งกระจ่าง และนายสุภัคร ลดาวัลย์ ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารงานสินทรัพย์ และอาคารเช่า มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การตัดหรือลดขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงาน ข้อ 38
การกระทำของ นายเจริญพนิช จันทภิรมย์รักษ์ นายภิรมย์ แฟงทอง และ นายจุลศักดิ์ มาตรไตร นายประเสริฐ บินอานัด นายวุฒิชัย บินอานัด นางอรดา มารีย๊ะ นายสุชาติ บินอานัด นางดวงใจ ฤทธิเดช นายธีรศักดิ์ ทับอุไร นายนันทวัฒน์ พิพัฒวงศ์เกษม นายอดิศร ธนนันท์นราพูล , นายวิศิษฐ์ ตันติชัยปกรณ์ นายธีระ เบญจศิลารักษ์ นายอนันต์ อัศวโภคิน บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอตแลนติกเรียลเอสเตท จำกัด
มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงานในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
สำหรับ นายสมจิตร ซาฟีวงษ์ และนางคอเยาะ วงษ์อารี ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้กระทำความผิด และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอน ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย