วันนี้ ( 28 เม.ย.66) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปลด นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คดีดังกล่าว นายสืบพงษ์ ยื่นฟ้อง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 1 ศาสตราจารย์ สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2 และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีมีมติในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
แต่ นายสืบพงษ์ เห็นว่า ได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าว
โดยระหว่างพิจารณาคดี ศาลได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนมติถอดถอน นายสืบพงษ์ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางราย ได้อภิปรายเห็นด้วยกับกรณีที่ นายสืบพงษ์ ไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย ตามที่กรรมการฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน มีหนังสือร้องขอ และได้มีการตั้งคำถามเพื่อให้ นายสืบพงษ์ ชี้แจง ซึ่งก็ได้ชี้แจงต่อสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถึงเหตุผลที่ นายสืบพงษ์ ไม่เรียกประชุม
หลังจากนั้น ศ.สมบูรณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้แจ้งให้สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงมติในสองประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง สภามหาลัยรามคำแหง จะปรึกษาหารือในเรื่องที่ นายสืบพงษ์ ชี้แจงต่อไปหรือไม่ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีมติ โดยเสียงข้างมากว่าจะประชุมปรึกษาหารือในเรื่องที่ นายสืบพงษ์ ชี้แจงต่อไป
และประเด็นที่สอง นายสืบพงษ์ จะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงทำการพิจารณาในประเด็นที่หนึ่งหรือไม่ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีมติโดยเสียงข้างมากว่า นายสืบพงษ์ จะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการพิจารณาในประเด็นที่หนึ่ง
และเมื่อเสร็จสิ้นการลงมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งสองประเด็นแล้ว นายสืบพงษ์ ก็ได้ออกไปจากห้องประชุม หลังจากนั้น สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการพิจารณาต่อไป จนกระทั่งมีการลงมติถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่า ขณะเริ่มประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้แจ้งให้ นายสืบพงษ์ ทราบเลยว่า จะมีการพิจารณาลงมติถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวาระการประชุมนี้
คงมีก็แต่เพียงการอภิปรายและตั้งคำถามจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางราย เพื่อให้ นายสืบพงษ์ ชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น
ดังนั้น การชี้แจงของ นายสืบพงษ์ จึงเป็นการตอบคำถามต่อสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามทางปกติของผู้เข้าร่วมประชุม โดยนายสืบพงษ์เองก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า ตนจะต้องถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวาระการประชุมนี้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้เตรียมพยานหลักฐานอย่างเต็มที่เพื่อโต้แย้ง
และเมื่อมติของสภามหาวิทยาลัยรามคําแหง ที่ถอดถอน นายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคำสั่งทางปกครองอันมีผลให้ นายสืบพงษ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นการถาวรและเด็ดขาด
การที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้แจ้งให้นายสืบพงษ์ ทราบข้อเท็จจริง และมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเสียก่อน จึงเป็นการมีมติโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนด มติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ที่ให้ถอดถอน นายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีมติดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ ให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่สั่งทุเลาการบังคับตามมติ และคำสั่งที่ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือ ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสืบพงษ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีแรกที่ตนยื่นฟ้องศาลปกครอง และยังมีอีกที่ตนฟ้องสภา ม.รามคำแหง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
นอกจากนี้ ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งในคดีที่ตนยื่นฟ้อง สภา ม.รามคำแห่ง และกรรมการสภาฯ ในความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อีกคดี