ภายหลังที่มีข่าวการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหลอกลวงประชาชน และมีคดีออนไลน์ ที่เกิดขึ้นมาก ได้แก่ การแอบอ้างเป็นศูนย์กระจายสินค้า หลอกให้โอนเงินเพื่อสต๊อกสินค้านั้น
ล่าสุด พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) และ หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย โดย นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย(TBA) แถลงข่าวเตือนภัยทางออนไลน์
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 เม.ย.-6 พ.ค.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2.คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3.คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4.คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5.คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center)
ด้าน พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวว่า ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ เรื่องแรก เป็นเรื่องมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารส่ง SMS และโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหาย มีรายละเอียด ดังนี้
1.คดีนี้รูปแบบแรก มิจฉาชีพส่งข้อความว่า มีผู้เข้าสู่ระบบธนาคารของผู้เสียหายจากอุปกรณ์อื่น หากไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง ให้ผู้เสียหายติดต่อธนาคารทันที โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์กับมิจฉาชีพ ซึ่งใช้ชื่อธนาคาร และอ้างตัวว่า เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วส่งลิงก์มาให้หลงเชื่อ และกดลิงก์ เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย
จุดสังเกต
1.มิจฉาชีพส่งข้อความพร้อมแนบลิงก์ คล้ายข้อความจริงจากธนาคาร และใช้ชื่อไลน์คล้ายกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร
2.ธนาคารจะใช้หมายเลขโทรศัพท์ของธนาคาร(ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 02) ส่งข้อความ จะไม่ใช้หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว หรือเบอร์มือถือ หรืออีเมลส่งข้อความ และจะไม่มีการแนบลิงก์ให้กดแต่อย่างใด
วิธีป้องกัน
1.ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง
2.กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับ call center ของธนาคารโดยตรง
3.กรณีมีการส่งลิ้งก์แปลกปลอม ให้ตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.who.is
4.หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น ธนาคารไม่มีนโยบายการส่งข้อความ SMS แบบแนบลิ้งก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอดไลน์ไอดี หากได้รับ SMS ดังกล่าว อย่าหลงเชื่อ
2.รูปแบบที่ 2 มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วแจ้งว่าบัญชีของผู้เสียหายมีความผิดปกติ หรือติดค้างชำระยอดบัตรเครดิต เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพจะอ้างต่อว่า มีการนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้เสียหายไปใช้ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด แล้วให้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพตรวจสอบ
จุดสังเกต
มิจฉาชีพจะโทรศัพท์มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินต่างๆ แล้วเริ่มบทสนทนาพูดคุยโน้มน้าวให้หลงเชื่อ แล้วส่งต่อให้คุยกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดความกลัว แล้วให้โอนเงินให้คนร้ายตรวจสอบ
วิธีป้องกัน
1.ให้ติดต่อ call center ของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลโดยตรง เพราะธนาคารไม่มีนโยบายในการโทรศัพท์แจ้งให้ประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่น หรือโอนเงินไปตรวจสอบ
2.กรณีอ้างหน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
3.ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่
ขณะที่ นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย(TBA) ผู้แทน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าวข้างต้น ขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อโอนเงินไปตรวจสอบ หรือกดลิ้งก์ทุกประเภท เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.มาตรการป้องกัน ให้งดการส่งลิ้งก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิ้งก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน Mobile Banking (username) ของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น
โดยมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง ใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (biometrics) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท/ครั้ง หรือมากกว่า 200,000 บาทต่อวัน หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมสูงขึ้นจากวงเงินเดิม
นอกจากนี้ จะมีการพิจารณากำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ให้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น แต่ต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย ได้กำหนดเงื่อนการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำผิด เพื่อรายงานไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ และ3.มาตรการตอบสนองและรับมือ มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ
ในส่วนดำเนินการตาม พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 นั้น ทางสมาคมธนาคารไทยขอประชาสัมพันธ์ว่า กรณีเมื่อทราบว่าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากบัญชี ให้โทรศัพท์เข้าสายด่วนของธนาคาร ที่ผู้เสียหายมีบัญชีที่ถูกหลอกให้โอนเงินออกอยู่ ทางธนาคารจะระงับธุรกรรมไว้ชั่วคราว แล้วนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ธนาคารอื่น และผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกยอดทราบ และระงับการทำธุรกรรมไว้ทันที
จากนั้นให้ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง (ออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com) และไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบปากคำ และจะมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ระงับการทำธุรกรรมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ข้างต้น ขอย้ำว่ากรณีสงสัยว่าจะถูกมิจฉาชีพหลอกให้โทรสายด่วนของแต่ละธนาคารได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงนี้มีคดีที่มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นศูนย์กระจายสินค้า หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินสต๊อกสินค้า โดยโฆษณารับสมัครงานในเฟซบุ๊กว่า สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยไม่เสียค่าสมัคร ไม่ต้องอบรม ผู้เสียหายหลงเชื่อทักสอบถาม มิจฉาชีพคนที่ 1 จึงให้แอดไลน์ มิจฉาชีพคนที่ 2 เพื่อแจ้งรายละเอียดการทำงาน
โดยให้ผู้เสียหาย เข้าระบบการทำงานสต๊อกสินค้าที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาแล้วให้ทำตามขั้นตอนต่างๆ และมีขั้นตอนให้เข้าแอปพลิเคชัน Shopee และ Lazada ของจริง จากนั้นให้กดไลค์ กดแชร์สินค้าที่กำหนด แล้วบันทึกหน้าจอส่งให้ดูพร้อมโอนเงินตามมูลค่าสินค้านั้นๆ เข้าบัญชีมิจฉาชีพ ในระบบจะขึ้นว่าผู้เสียหายได้เครดิตและได้เงินค่าคอมมิชชัน 10% ของราคาสินค้าที่ทำงานสต๊อก เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าได้คอมมิชชันจากการทำงานจริง
จากนั้นมิจฉาชีพให้ผู้เสียหายทำภารกิจต่อไปโดยค่าสินค้า และค่าคอมมิชชันมากขึ้น เมื่อสินค้ามีมูลค่าหลักหมื่น หรือหลักแสน มิจฉาชีพอ้างว่าผู้เสียหายทำผิดพลาดไม่สามารถถอนเงินได้
จุดสังเกต
1.มิจฉาชีพแอบอ้างใช้ชื่อบริษัท ห้างร้านเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น Shopee Wastons Lazada เป็นต้น
2.มิจฉาชีพจะโอนค่าคอมมิชชันในช่วงแรกให้ผู้เสียหายจริงเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ
วิธีป้องกัน
1.กรณีมีการโฆษณารับสมัครงานจากบริษัท ห้างร้านที่มีชื่อเสียง ควรโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดโดยตรง
2.หากมีการกำหนดให้ชำระเงินก่อนแล้วจะได้รับผลตอบแทน ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าการชักชวนทำงานดังกล่าวเป็นการหลอกลวง
3.ควรศึกษารายะเอียดให้ถี่ถ้วนก่อนการสมัครงานหรือทำภารกิจใดๆ
ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชนที่เปิดหรือยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตร หรือ e-wallet เป็นบัญชีม้า ให้รีบนำบัตรประชาชนไปปิดบัญชีกับธนาคารโดยเร็ว เนื่องจากเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งมีอัตราโทษสูง คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับประชาชนที่ทราบว่าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากบัญชี ให้โทรศัพท์สายด่วนของธนาคารเพื่อให้ธนาคารระงับธุรกรรมไว้ชั่วคราว ภายใน 72 ชั่วโมง ตามที่ทางสมาคมธนาคารไทยแจ้งให้ทราบ
แล้วมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนปากคำโดยด่วน จากนั้นทางพนักงานสอบสวนจะแจ้งให้ธนาคารระงับธุรกรรมต่อไป และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441