วันนี้ (2 มิ.ย. 66) นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯ ถูกร้องให้ตรวจสอบ และอาจนำไปสู่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ใหม่ ระบุว่า
ตามที่ได้เกิดประเด็นถกเถียงกรณีหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกยื่นคำร้องกล่าวหาว่า เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เพราะถือหุ้นของ ITV ซึ่งประกอบกิจการสื่อ อันอาจนำไปสู่การถอดถอนและมีผลกระทบทางกฎหมายหลายประเด็นนั้น
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยมีความเห็น ดังนี้
1.ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การถือหุ้นไอทีวี เป็นลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (3) จะมีผลทางกฎหมายต่อการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น ได้แก่ ถูกถอดถอนจากการเป็น ส.ส. ของการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะต้องถูกเรียกเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ที่ได้ไปจากการดำรงตำแหน่งคืน แต่จะไม่กระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปก่อนพ้นตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง
2.นอกจากนี้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้าม มิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเช่น ส.ส. ของปี 2566 และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) อันจะทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
3.ส่วนการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ที่อาจมีผลต่อการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น เห็นว่า การที่บุคคลใดขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่ง จะไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกและกิจการที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยสุจริต ในขณะดำรงตำแหน่ง เช่น กรณี ส.ส. หรือรัฐมนตรี เป็นต้น ตามนัยของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
ดังนั้น กิจการที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้กระทำไปในฐานะเป็นหัวหน้าพรรค เช่น การลงชื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ถูกกระทบเพราะการขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด
“จึงไม่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม หรือ เลือกตั้งใหม่ตามที่หลายฝ่ายมีความวิตกจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว” แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุ