วันนี้ (20 มิถุนายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงไทม์ไลน์การประชุมรัฐสภา และการสิ้นสุดอายุของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครบ 500 คนแล้ว
สำหรับไทม์ไลน์เบื้องต้น หลังจาก กกต.มีมติรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะให้เวลา ส.ส.ที่ได้รับใบรับรองต้องมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเอกสารประกอบการรายงานตัว ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ภายในระยะเวลา 7 วัน
จากนั้นรัฐสภาจะแจ้งกลับมายังรัฐบาลว่า บัดนี้มี ส.ส.มารายงานตัวแล้วจำนวนเท่าใด และถ้ามีจำนวนมากพอ จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานวันเพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้นเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็เริ่มรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันนั้น
ส่วนการเลือกตั้งประธานสภา จะเกิดขึ้นภายใน 10 วัน หลังวันรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งตามธรรมเนียมปกติมักจะเกิดขึ้นเร็ว เช่น ในอดีตก็มีการเลือกประธานสภาภายในวันเดียวกับที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา
จากนั้นเมื่อมีการเลือกประธานสภาเสร็จสิ้น จะใช้เวลา 2-3 วันเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้วทุกอย่างจะอยู่ในอำนาจของประธานสภา และเริ่มต้นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันใดก็ได้ ส่วนกรอบวันโหวตนายกฯ จะมีกรอบระยะเวลาหรือไม่ รองนายกฯ ระบุว่า ไม่มีว่าเลือกภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และไม่มีว่าทำได้ภายในกี่ครั้ง
ทั้งนี้เมื่อมีการตั้งนายกฯ และครม.แล้ว เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ และรัฐบาลชุดปัจจุบันจะหมดหน้าที่ลง
รองนายกฯ ยอมรับว่า ไทม์ไลน์เบื้องต้นรัฐบาลปัจจุบันน่าจะสิ้นสุดหน้าที่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นสิงหาคม 2566 ซึ่งน่าจะเร็วกว่าที่คิด แต่ก็ไม่สามารถบอกวันหรือช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ เพราะจะต้องสอดคล้องกับวันเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา รวมทั้งวันโปรดเกล้าฯ ตั้งประธานสภา และวันโหวตเลือกนายกฯ ด้วย
“ที่มารายงานไทม์ไลน์ต่อครม.วันนี้ ให้ให้ทราบว่า เป็นประมาณการโดยเทียบกับอดีต เพราะยังมีเงื่อนไขที่ผูกกันหลายอย่าง ควบคุมไม่ได้ และไม่ควรจะไปควบคุมด้วย”
ส่วนหลักเกณฑ์การเลือกประธานสภานั้น รองนายกฯ กล่าวว่า จะต้องใช้เสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมสภา จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งประธานสภาเมื่อเข้ามาแล้วจะมีเรื่องเผือกร้อนเกี่ยวกับการยื่นคุณสมบัติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ รองนายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม