กลายเป็นคำร้อง เป็นคดี ให้น่าติดตามขึ้นมา สำหรับนโยบายการผลักดันแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุม เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 พิจารณาคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อยกเลิกม.112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดย นายธีรยุทธ กล่าวอ้างในคำร้องว่า ได้ยื่นคำร้องขอฉบับลง วันที่ 30 พ.ค. 2566 เพื่อขอให้อัยการสูงสุด(อสส.) ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล แล้ว แต่อสส. มิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติให้สอบถาม อสส.ว่า มีคำสั่งรับ หรือ ไม่รับดำเนินการ ตามที่ร้องขอ หากมีคำสั่งรับคำร้องขอ ดำเนินการแล้วอย่างไร และผลการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยให้แจ้งศาล รธน. ภายใน 15 วัน (ครบกำหนดประมาณ 12 ก.ค. 66)
ร้องศาลสั่งเลิกแก้ ม.112
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 นายธีรยุทธ ได้เข้ายื่นร้องต่อ ศาล รธน. เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งให้ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ให้เลิกทำนโยบายแก้ไข ม.112 และขอให้เลิกการให้สัมภาษณ์ ป้ายโฆษณา โฆษณาใดๆ
โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หากมีการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด และได้ยื่นคำร้องไป เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 เมื่อครบ 15 วันแล้ว อัยการยังไม่ได้สั่งการใด เป็นสิทธิที่จะยื่นร้องโดยตรงต่อศาลรธน.ได้
นอกจากนี้ ยังได้ยกกรณีศาลรธน.วินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีที่กลุ่มบุคคลและองค์กรเครือข่ายได้เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กระทบกระเทือนถึงสถาบันหลักของชาติ ซึ่งในขณะนั้น ศาล รธน. มีคำสั่งให้เลิกการกระทำอันกระทบกระเทือนสถาบัน เพื่อเป็นการหยุดยั้งไม่ให้ลุกลามจนเกิดอันตรายแก่สถาบัน
“จึงมายื่นให้ศาล รธน. มีคำสั่งให้ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล เลิกการดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิก หรือ แก้ไข ม.112 รวมไปถึงให้เลิกแสดงความเห็น เลิกพูด เลิกเขียน เลิกพิมพ์ เลิกโฆษณษา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก หรือ แก้ไข ม. 112 ที่กระทำอยู่ในขณะนี้ และจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันจึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม"
นายธีรยุทธ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงอาจเข้าข่ายมีเจตนาไม่สุจริต มีกระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน นำไปสู่การทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
“มีหลายประเด็นที่เห็นว่า เข้าข่าย ต้องโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 19/2564 ที่ศาลวินิจฉัยไว้เบื้องต้นว่า การยกเลิกหรือการแก้ไขกฎหมายใด ที่มีไว้เพื่อห้ามไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำนั้นได้มีคำสั่งห้ามไปแล้วในคำวินิจฉัยดังกล่าว" นายธีรยุทธ กล่าว
ยื่นอสส.-กกต.สอบ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 นายธีรยุทธ ได้ยื่นคำร้องขอเรื่องดังกล่าวต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย โดยได้ยกคำวินิจฉัยของศาล รธน. ซึ่งพูดถึงการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ม.112 ที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงสถาบันหลักของชาติ และความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
พร้อมด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญ ม. 211 (4) ที่บัญญัติไว้ว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”
ย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 อดีตทนายพุทธะอิสระ ก็ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล ในการแก้ไข ม.112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยนายธีรยุทธ ได้ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้าน ม.112 ที่ได้รวบรวมยื่นให้กับทาง กกต.
“ส่วนตัวมองว่า การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบาย ในการแก้ไข ม.112 ถือว่าเข้าข่าย เซาะกร่อน บ่อนทำลาย ทำให้สถาบันหลักของชาติเสียหาย หรือ ได้รับความกระทบกระเทือน จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน. อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2566 ทาง กกต.ได้ตีตกคำร้องนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล
สารตั้งต้นยุบก้าวไกล
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ถึงกรณีศาล รธน. มีมติให้ อสส.ชี้แจงว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องภายใน 15 วัน กรณีนายธีรยุทธ ยื่นคำร้องเกี่ยวกับ ม.112 ดังกล่าว ว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องสอบถาม เพราะมีคนไปร้องมานานแล้ว และยังไม่ทำความเห็นส่งมาเสียที เพราะถ้าไม่ส่งเอกชนก็จะฟ้องร้องเอง
เมื่อถามว่าหาก อสส.ไม่รับคำร้อง ผู้ร้องสามารถใช้ช่องทางตามมาตรา 49 ยื่นตรงให้ศาล รธน.ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลจะรับก็ได้ หรือไม่รับก็ได้
เมื่อถามว่าหากศาลรับคำร้องจะส่งผลต่อการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่น่า เพราะเป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ตัวบุคคล และไม่มีเรื่องของการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ส่วนโทษร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าไปถามล่วงหน้า เอาให้จบเรื่องเสียก่อน เมื่อถามว่าแต่คำร้องเขียนว่าแค่ยกเลิกการกระทำ ถือเป็นสารตั้งต้นให้คนมาร้องคดีอาญา หรือ คดียุบพรรค กรณีหากศาลตัดสินว่าผิดใช่หรือไม่ นายวิษณุ พยักหน้าและตอบว่า “ใช่ และอย่าให้ผมไปแนะนำเลย”
+++++
“พิธา”ประกาศดันแก้ ม.112
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ถึงกรณีกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ยังคาใจกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 พรรคก้าวไกลจะถอดสลักดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าหมายของการได้ตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ว่า การแก้ไขมาตราดังกล่าวเป็นสิ่งที่พรรคได้พูดก่อนการเลือกตั้ง ที่ชัดเจนว่าจะเป็นการทางออกให้กับสังคมไทย
เพราะช่วงที่ผ่านมามีการใช้มาตราดังกล่าว เป็นเครื่องมือทางการเมืองรังแกคนเห็นต่าง จึงไม่เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลสะดุด
“มีข้อมูลมีหลายฝ่ายที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ม.112 เพราะการแก้ไข คือ การแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับวุฒิสภา ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่าการรักษาปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน”
เมื่อถามว่าหากเรื่องการแก้ไข ม. 112 ทำให้ไปไม่ถึงนายกฯ วางแผนไว้อย่างไร นายพิธา กล่าวว่า หากมีเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะถือเป็นการนำเสียงของประชาชน ปะทะกับสถาบันโดยตรง ไม่เหมาะสม และอันตราย ดังนั้น อย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างอีกเลย ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกันจำนวนมาก ที่ต้องบริหารจัดการ
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่ นายพิธา ตอบว่า ไม่กังวลใจ เพราะเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญกับอัยการสูงสุด การแก้ไขกฎหมายฉบับหนึ่งไม่เท่ากับการล้มล้างการปกครอง ตามที่กล่าวหา และคิดว่าข้อกล่าวหานี้เกินจริงไปมาก ทั้งนี้ยืนยันว่า มีความตั้งใจที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างหนักแน่น
เมื่อถามว่าเมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ของศาลรัฐธรรมนูญ จะคาบเกี่ยวกับวันโหวตนายกฯ จะเป็นเหตุผลที่ ส.ว.ยกมาอ้างเพื่อไม่โหวตสนับสนุนหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า “เชื่อว่าไม่เป็นไปอย่างที่เป็นข่าว ว่าจะนำเรื่อง ม.112 เป็นข้ออ้าง ที่จะไม่ทำตามมติของสภาฯ ล่าง จึงไม่เป็นประเด็นอะไร”