2 ส.ว. จี้กกต.เร่งสอบปม "พิธา" ถือหุ้นสื่อก่อนโหวตเลือกนายกฯ

27 มิ.ย. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2566 | 10:08 น.

2 ส.ว. "เสรี-สมชาย" จี้ กกต.เร่งสอบปม "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ถือหุ้นไอทีวีส่งศาลรัฐธรรมนูญก่อนโหวตเลือกนายกฯ ยัน ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ พิจารณาจากคุณสมบัติและความเหมาะสมตามข้อเท็จจริง ย้ำมาตรฐานปี 62 ใช้ไม่ได้เพราะบริบทต่างกัน

สถานการณ์การเมืองของไทยยังคงต้องเกาะติดและติดตามความเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากไทม์ไลน์คาดการณ์กันว่า ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และมีรัฐบาลชุดใหม่ไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ท่ามกลางข้อกังขาและประเด็นร้อนต่าง ๆ ที่ยังระอุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลกรณีการถือครองหุ้นไอทีวีที่เกิดขึ้นว่าจะขัดคุณสมบัติหรือไม่นั้น  

ล่าสุด ที่อาคารรัฐสภา ฝั่งวุฒิสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภาและนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับหนังสือจากนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ซึ่งนำหลักฐานการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลมามอบให้กับสมาชิกวุฒิสภา

เนื่องจากเห็นว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีปัญหาไม่จบ นอกจากนี้คดีของนายพิธายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกร้องให้ดำเนินการกรณีนี้โดยเร็วที่สุดก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี

ภายหลังจากรับหนังสือดังกล่าว นายเสรี ปธ.คกก.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ในเอกสารที่ยื่นมาเป็นเรื่องของการถือหุ้นสื่อนายพิธาซึ่งสอดคล้องกับภารกิจในกรรมาธิการที่กำลังตรวจสอบอยู่

จากนี้จะนำไปพิจารณาศึกษาต่อซึ่งจะมีการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนที่จะเดินทางไปหารือ กับนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.และกกต.ในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. หากเรื่องนี้เป็นไปตามที่ปรากฏในที่สาธารณะอยู่แล้ว

อีกส่วนหนึ่งที่คณะกรรมาธิการตรวจพบก็จะนำหลักฐานทั้งหมดมอบให้กับประธาน กกต.และจะมีการเร่งให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนเรื่องที่ดินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเสรี กล่าวว่า เป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น การจัดการทรัพย์มรดกจะต้องแสดงให้เห็นว่า มีวิธีการจัดการในช่วงไหนอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า หุ้นได้มีการจัดการไปแล้วด้วยหรือไม่

ถ้าทรัพย์มรดกอื่นๆมีการจัดการแบ่งไปแล้วก็จะเกิดคำถามว่าทำไมหุ้นสื่อถึงยังไม่จัดการ จุดนี้จะชี้ให้เห็นว่า วิธีการจัดการทรัพย์มรดกได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ทั้งนี้ นายเสรี ยืนยันว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะยึดมาตราฐานเดิมไม่ได้เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ คุณสมบัติ ความเหมาะสมตามข้อเท็จจริงซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่า หากมีความพยายามแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่เหมือนกับปี 62 เพราะตอนนั้นไม่มีพรรคไหนมีพฤติกรรมที่จะแก้ไขมาตรา 112 

ดังนั้น จะอ้างมาตรฐานปี 2562 มาใช้กับตอนนี้ไม่ได้ เพราะบริบทของแต่ละคนต่างกัน ความสำคัญของเรื่องต่างกันและปัญหาของแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกัน

สิ่งที่สำคัญ คือ ในตอนนั้นไม่มีเหตุการณ์ที่ยุยงให้เด็กกระทำผิดต่อกฎหมายซึ่งเป็นความเหมาะสมที่สมาชิกวุฒิสภาจะนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกนายกฯ

ส่วนกรณีที่นายพิธา มั่นใจว่า จะมีเสียง ส.ว. สนับสนุนมากพอให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายเสรี กล่าวว่า ตามที่ปรากฏอยู่ในข่าว มี ส.ว.17 คน สนับสนุนนายพิธาแต่ก็มีหลายคนในจำนวนนี้ออกมาปฏิเสธว่า ถูกนำชื่อไปใส่โดยไม่ได้ไปเสนอแนวทางอย่างนั้นเพียงแต่ระบุว่า หากได้เสียงข้างมากก็จะโหวตให้แต่ถ้าได้เสียงข้างมากแล้วยังคงแก้มาตรา 112 อยู่ก็จะไม่โหวตให้ เพราะฉะนั้น จะเอาแนวทางเสียงชนะอย่างเดียวไม่ได้ต้องดูความเหมาะสมด้วย

ด้านนายสมชาย ปธ.คกก.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ก็มีการรับเรื่องและมอบให้ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบแต่เรื่องนี้ ได้มอบให้นายเสรีไปตรวจสอบแล้ว และมอบให้กรรมาธิการกิจการองค์กรศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีปัญหาในหลายประเด็นซึ่งการที่มายื่นร้องให้ ส.ว.ยื่นตามมาตรา 82 คือ ส.ว. 1 ใน 5

โดยหลักเป็นเรื่องของ ส.ว.ด้วยกันเว้นแต่ไปตีความว่า ส.ว.เป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาก็จะใช้ 1 ใน 10 ได้แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น ส่วนตัวเห็นว่า กกต.มีหน้าที่อยู่แล้วเรื่องนี้ไม่ยากซึ่งจะพิจารณาได้ว่า นายพิธา ถือหุ้นสื่อหรือไม่ซึ่งชัดอยู่แล้วไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ก็ตรวจสอบจากวัตถุประสงค์และการประกอบกิจการของบริษัทและคดีความที่อยู่ในศาลปกครอง

รวมถึงคำร้องที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญถึง 4 คดีมาประกอบ ซึ่งชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือหุ้นสื่อเพียงหุ้นเดียวก็ไม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

หาก กกต.ยึดมาตรฐานเดิมที่ใช้พิจารณาคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็รับได้

อย่างไรก็ดี กกต.สามารถดำเนินการได้ทำทันทีเนื่องจากมีคำร้องเดิม รวมกับที่ตั้งกรรมการไต่สวนตามมาตรา 151 แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อนายพิธา หากไม่ถือหุ้นสื่อก็จบและได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ขาดคุณสมบัติ ไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายต่อไป

นายสมชาย กล่าวย้ำว่า เมื่อ ส.ว.ต้องทำหน้าที่ร่วมโหวตนายกฯ ต้องนำประเด็นนโยบายของพรรคการเมืองนั้นมาพิจารณามาประกอบกับตัวบุคคล โดยเฉพาะนโยบายที่กระทบกับความมั่นคงของประเทศแต่เมื่อเสนอมาแล้ว คนที่มาจะเป็นนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลควรต้องคำนึงถึงข้อกังวลของ ส.ว.โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงของประเทศด้วย