แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ของ 8 พรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลได้เสนอแนวคิดให้ที่ประชุมพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเงินมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ด้วยการยกเลิกการกำหนดสัดส่วนงบลงทุนที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำเงินมาใช้สำหรับการจัดทำนโยบายสวัสดิการที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้กับประชาชน
อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวของพรรคก้าวไกล มีคณะทำงานจากหลายพรรคที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะกระทบกับการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาวให้กับประเทศ จึงต้องมีการหารือกันอีกเยอะ ต้องดูรายละเอียดว่าจะปรับปรุงนิยามงบลงทุนอย่างไรประกอบกันไปด้วย
จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หากดูจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงินรวม 3,185,000 ล้านบาท พบว่ามีการตั้งงบรายจ่ายลงทุนไว้จำนวน 689,479.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.65% ของวงเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงิน การคลังของรัฐ มาตรา 20 บัญญัติว่า การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น
นอกจากนี้ในพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ยังกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังที่สำคัญ ดังนี้
กรอบวินัยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี (ร้อยละของงบประมาณรายจ่ายประจำปี)
สัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบวินัยในการบริหารหนี้
ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความเรื่อง “ข้อสังเกตเรื่องต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน : วิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อ กกต. “ระบุว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลมีนโยบายต่าง ๆ ซึ่งระบุว่าจะใช้เงิน 1.3 ล้านล้านบาท โดยนโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุดคือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงิน 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.2 แสนล้านบาทจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน
ส่วนนโยบายที่ใช้เงินสำรองลงมาคือนโยบาย “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะใช้งบ 2 แสนล้านบาท โดยระบุว่าจะมาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ มาให้จังหวัด
ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินที่ต้องใช้เพิ่ม พรรคก้าวไกลระบุว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐในรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 6.5 แสนล้านบาทต่อปี และจะปฏิรูปกองทัพซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น
โดยรวมแล้ว พรรคก้าวไกลจัดทำเอกสารที่ค่อนข้างละเอียด โดยแจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่น เช่น ระบุว่าส่วนไหนจะใช้งบฯของหน่วยงาน งบฯกลางหรือต้องหาเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขงบประมาณที่พรรคก้าวไกลนำเสนอเกือบทั้งหมด ยังเป็นตัวเลขของปีงบประมาณ 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายและแสดงภาระการคลังสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นการประมาณการที่ค่อนข้างรัดกุม
ที่สำคัญพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ทำให้สามารถอุดช่องโหว่ปัญหาวินัยการคลังในอดีตที่บางรัฐบาลเน้นการใช้เงินส่วนนี้ ซึ่งรัฐสภาไม่สามารถกลั่นกรองได้เพราะไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนในเอกสารที่เสนอต่อ กกต. ว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีอย่างไร และจะมีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะจัดเก็บเพิ่มได้ตามจำนวนที่ระบุ แม้ได้ระบุว่ามีความเสี่ยงที่อาจจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ได้ตามเป้าไว้บ้างก็ตาม นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ระบุความเสี่ยงจากการปฏิรูปต่าง ๆ ตามนโยบายพรรคที่อาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกองทัพและหน่วยราชการส่วนกลาง