“Hey Taylor! Big fan of yours. Btw, Thailand is back on track to be fully democratic after you had to cancel last time due to the coup. The Thai people have spoken via the election and we all look forward to welcoming you to this beautiful nation of ours! Do come and I’ll be singing Lavender Haze with you! – Tim”
"เฮ้เทย์เลอร์! ผมเป็นแฟนคลับตัวยงของคุณ ประเทศไทยกำลังกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว หลังจากก่อนหน้านี้คุณจำเป็นต้องยกเลิกคอนเสิร์ตเนื่องจากการรัฐประหาร ขณะนี้คนไทยได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้งแล้ว พวกเราทุกคนรอคอยที่จะต้อนรับคุณสู่ประเทศที่สวยงามของเรา! มาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทย แล้วผมจะร้องเพลง Lavender Haze ด้วยกัน"
หลายคนคงได้เห็นแล้วว่า ข้อความที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความถึง “เทย์เลอร์ สวิฟต์” นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน เพื่อชวนมาเล่นคอนเสิร์ตในประเทศไทย
ยกเลิกคอนเสิร์ต The Red Tour ประเทศไทยมีการรัฐประหาร
ย้อนกลับไป คอนเสิร์ต The Red Tour ที่ประเทศไทยของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” กำหนดการแสดงในวันที่ 9 มิ.ย. 2557 ซึ่งมี BEC-Tero Entertainment เป็นผู้จัดและบัตรถูกขายหมดเกลี้ยงทันที แต่ก่อนถึงวันแสดงเพียง 3 สัปดาห์ ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยมีการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน ผู้จัดจึงตัดสินใจยกเลิกคอนเสิร์ต แต่สวิฟต์ ก็ได้ออกมาทวีตข้อความว่า “เสียใจอย่างยิ่งที่ไม่สามารถมาแสดงได้”
หลังจากที่พิธาทวีตข้อความดังกล่าวไม่นานก็มีกระแสต่อต้านไม่ว่าจะเป็นการแนะนำจาก พัฒนพงศ์ แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำว่าเป็นผู้นำต้องคิดภาพใหญ่ คอนเสิร์ตที่เป็น World Tour วางแผนเป็นปี ถ้ามีดนตรี หรือศิลปะใด ๆ ในหัวใจ จะไม่โยงการเมืองเข้ามาทำให้ดนตรีแปดเปื้อน และ “น้าหงา คาราวาน” อดีตศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่ลบทวีตชวนเทย์เลอร์ สวิฟต์ ชี้ตรรกะ “ทำให้ดูงี่เง่า”
จุดยืนทางการเมืองของ Taylor Swift ที่โลกตะลึง
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม พิธาจึงทำแบบนั้น ถ้าตัดเหตุผลการเป็นแฟนคลับตัวยงออกไป เขาคิดอะไรอยู่ ?
แต่หากย้อนดูจุดยืนทางการเมืองของ Taylor Swift ที่เร้นทัศนคติทางการเมืองเอาไว้มิดชิด เลี่ยงการแสดงความเห็นเรื่องนี้ต่อสาธารณชนมายาวนาน นั่นอาจเพราะการเมืองเป็นเรื่องแสลงสำหรับศิลปินก็ว่าได้ หลายคนบอกว่าเธอฉลาดที่จะไม่เอาตัวเองลงไปยุ่งกับประเด็นการเมืองของสหรัฐอเมริกา ที่เห็นมากสุดก็แค่ชวนแฟนคลับและประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้งเท่านั้นเอง และเธอก็บอกแค่ว่า “ฉันจะไปลงคะแนนค่ะ”
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป หลายสิ่งหลายอย่าง เรื่องดรามามากมายก็นำพาให้เธอออกมายืนหยัดในความคิดและตัวตน จนสร้างกระแสกระหึ่มไปทั่วโลกมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อ 2018 เธอได้โพสต์ภาพขึ้นอินสตาแกรม @taylorswift พร้อมประกาศจุดยืนทางการเมืองสนับสนุน จิม คูเปอร์ และฟิล เบรเดเซน ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ว. จากพรรคเดโมแครต ถือว่าสร้างความถือฮาไม่น้อยเลยทีเดียว
“ฉันไม่สามารถลงคะแนนให้กับคนที่ไม่เต็มใจที่จะต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของชาวอเมริกันทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะสีผิว เพศ หรือผู้ที่พวกเขารักก็ตาม” เทเลอร์หมายถึง มาร์ชา แบล็กเบิร์น วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน
และสารคดีเรื่อง Miss Americana ของ Netflix ในปี 2020 สารคดีตีแผ่เรื่องราวชีวิตของศิลปินสาว เส้นเรื่องดำเนินมาอย่างซ็อฟๆ แต่ในช่วงครึ่งหลังของ Miss Americana ได้เปิดเผยสิ่งที่อยู่ในหัวของศิลปินระดับโลกคนนี้ที่มีมานานในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ปิดปากเงียบเรื่องการเมือง ทั้งการเมืองระดับประเทศ และสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ เรียกว่าทำให้สารคดีชิ้นนี้ให้แตกต่างจากสารคดีชีวิตนักร้องนักดนตรีทั่วไป
ในฉากของสารคดีเรื่องนี้ มีผู้พบเห็นเธอน้ำตาคลอ และวิจารณ์นโยบายของ มาร์ชา แบล็กเบิร์น และวิธีที่เธอปฏิบัติต่อกลุ่มคนชายขอบ ถึงกับเรียกมาร์ชา แบล็กเบิร์น ว่า “ทรัมป์ใส่วิก” ซึ่งในตอนนั้นมีรายงานว่า ทรัมป์ ชอบเพลงของเธอน้อยลง 25%
นอกจากนี้ยังได้เผยถึงเหตุผลที่เธอแต่งเพลง Only the Young ประกอบสารคดี เธอแต่งมันขึ้นมาจากความผิดหวัง เเละสนับสนุนเหล่าคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเดินต่อต้านการเมืองที่อยุติธรรม
รายงานระบุว่าเธออนุญาตให้โจ ไบเดน ใช้เพลง Only The Young ของเธอในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีช่วงโค้งสุดท้ายในปี 2020 ด้วย
ไม่เพียงแค่การเมืองระดับประเทศเท่านั้น เธอยังสนใจการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีในสตรีเพศ โดยบอกเล่าผ่านสารคดี ที่ให้น้ำหนักมากไม่แพ้กัน มีฉากที่เผยให้เห็นว่าเธอฟ้องร้องดีเจคนหนึ่งที่ฉวยโอกาสกับเธอ ตอนถ่ายรูปอย่างไม่เต็มใจ ทำให้เดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจนชนะ นอกจากนั้นเธอยังสนับสนุนสิทธิ์ของชาว LGBT ด้วย และหนึ่งในผลงานเพลงก็คือ You Need to Calm Down ในอัลบั้ม Lover เนื้อเพลงสื่อถึงการต่อต้านการบูลลี่ ด่า ใส่อารมณ์ เหยียดในโลกออนไลน์ เเละสิทธิ์ของ LGBT ด้วย