“สนธิญา”ร้อง อสส.ส่งศาลรธน.ตีความเลือกประธานสภาเป็นโมฆะหรือไม่

10 ก.ค. 2566 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 08:03 น.

“สนธิญา”ร้อง อสส.ส่งศาลรธน.ตีความเลือกประธานสภา-รองประธาน เป็นโมฆะหรือไม่ เหตุคนเป็นประธานสภาชั่วคราว เสนอขอใช้ข้อบังคับแต่ไม่มีมติที่ประชุมสภารับรอง ฝาก “พิธา-ก้าวไกล”ระวังลงพื้นที่ขอบคุณ อาจเข้าข่ายชุมนุมกดดัน

วันนี้ (10 ก.ค. 66) นายสนธิญา สวัสดี ยื่นหนังสือขอให้อัยการสูงสุด(อสส.) พิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116  มาตรา 185 และ มาตรา 5 หรือไม่ 

เพราะในการเลือกกระทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอนในการเลือกประธานสภา ซึ่งมีผู้เสนอตัวเพียงคนเดียว เนื่องจากในการประชุมสภานัดแรก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์  ทำหน้าที่ประธานสภาชั่วคราว ได้แจ้งที่ประชุมของดเว้นข้อบังคับการประชุม จากการตรวจสอบไม่พบมีการลงมติของที่ประชุมสภา ให้การรับรองยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งการใช้ข้อบังคับการประชุมซึ่งเป็นกฎหมายรอง จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้น กรณีการใช้ข้อบังคับเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วไม่มีมติชัดเจนเป็นโฆษะหรือไม่ อย่างไร จึงขอให้อัยการสูงสุดส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการวินิจฉัยข้อกฎหมาย  ขณะที่มาตรา 114 ระบุว่า ส.ส.ไม่อยู่ในอาณัติมอบหมาย ไม่อยู่ในการครอบงำใด หรือปราศจากการครอบงำใดๆ  

นอกจากนี้ ในเรื่องของข้อตกลงระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ข้อตกลง 4 ข้อผ่านการประชุมของสมาชิกพรรคทั้ง 2 พรรคแล้วหรือไม่ กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดก่อนที่จะมีการเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  เป็นประธานสภา และในการประชุมก็ได้เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ ให้เป็นประธานสภา ถือเป็นการผูกมัด อาณัติให้ ส.ส.ทำตามหรือไม่ 

และในบันทึกข้อตกลงที่นายพิธา ได้อ่านให้นายพิธาได้เป็นนายกฯ โดยสุดความสามารถทั้ง 8 พรรค กรณีนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของนายพิธา พรรคก้าวไกลหรือไม่  ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 เพราะ  ส.ส.มีเอกสิทธิ ไม่อยู่ภายใต้ผูกมัด การครอบงำ หรือผลประโยชน์ใดๆ 

ส่วนการแก้ไข พ.ร.ป.การบริหารราชการของกระทรวงกลาโหม หรือ กระทรวงต่างๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 เพราะ ส.ส.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการบริหารราชการของหน่วยงานราชการได้หรือไม่

                           สนธิญา สวัสดี

จึงขอให้อัยการพิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยในประเด็นระหว่างการอาศัยข้อบังคับของสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกประธานสภาและรองประธานสภา และการที่ข้อบังคับไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้การเลือกประธานและรองประธานต้องเป็นโฆษะหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าภายใน 2 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 1 เดือนอั ยการสูงสุดจะวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด หากไม่ดำเนินการตนก็จะไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง  

นายสนธิญา ยังได้ฝากไปยังพรรคก้าวไกล กรณีที่ นายพิธา เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ตนอยากถามว่าเป็นการขอบคุณ หรือ ให้มีการชุมนุมกดดัน ซึ่งนายพิธา พรรคก้าวไกลต้องระมัดระวังในเรื่องนี้อย่างสูงสุด เพราะจะนำไปสู่กระบวนการได้มาซึ่งปกครองประเทศ หรืออำนาจซึ่งได้มาในการปกครองประเทศ ที่อาจจะไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

พร้อมฝากไปยังนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นกรณีขั้วอำนาจที่ 3 ที่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ขอให้ยุติ เพราะมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
 

อีกทั้งพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยที่เป็นขั้วรัฐบาลเดิม ก็ไม่ได้ประกาศอย่างนั้น เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นไปตามกระบวนการในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะรัฐบาลตามผลการเลือกตั้งหรือไม่ ก็อยู่ที่การประชุมรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค.ที่จะถึงนี้เป็นบทพิสูจน์