ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้(11ก.ค.66) คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มประชุมในเวลา 10.00 น. เป็นการประชุมต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82
ซึ่งเมื่อวานนี้ในการประชุมครั้งแรก แต่ กกต.ยังไม่ได้ได้ลงมติว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เป็นการติดตามความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ
ดังนั้น กกต.จึงได้นัดประชุมในวันนี้ แต่รายงานข่าวระบุว่ายังไม่มีคำยืนยันว่าจะมีการลงมติ หรือจะเชิญนายพิธา เข้ามาชี้แจงหรือไม่
เนื่องจากการที่ กกต.ได้มีการนัดประชุมล่วงหน้าในวันนี้และวันที่ 13 ก.ค.ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า กกต.จะใช้เวลาในการพิจารณา ประกอบกับการที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของคำร้องที่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื้อหาและข้อกฎหมาย โดยการพิจารณาของ กกต.ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จเมื่อใด
ทั้งนี้ในการพิจารณาของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนการพิจารณาตามมาตรา 151 ที่ กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนไปก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องของการดำเนินคดีทางอาญา
แต่ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อที่จะต้องพิสูจน์ข้อมูลและหลักฐานว่านายพิธา ถือหุ้นจริงหรือไม่ และหุ้นนั้นเป็นกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนหรือไม่
"ทนายอั๋น" ยื่นกกต. เบรกส่งศาลรธน.ตีความ
วันเดียวกันนี้ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ เข้ายื่นหนังสือถึงนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. เพื่อขอให้ชะลอการยื่นเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ที่กกต.อยู่ระหว่างการประชุมว่าจะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การถือหุ้นบริษัท itv จำกัด (มหาชน)
เนื่องจากวันที่ 13 ก.ค.นี้ รัฐสภาจะมีการประชุมวาระสำคัญคือการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งนายพิธา เป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะถูกเสนอเนื่องจากเป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจาก 8 พรรคร่วม
จึงอยากให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนจนกว่าการโหวตนายกฯ แล้วเสร็จ ส่วนตัวมองว่า กกต.ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนพิจารณาเพื่อส่งให้ศาลวินิจฉัยในช่วงนี้ เกรงว่าจะเกิดผลกระทบตามมาหลายอย่าง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความวุ่นวายจากมวลชนที่สนับสนุนนายพิธา
เมื่อถามว่า เหตุใดจึงอยากให้กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังการโหวตเลือกนายกฯ นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ตนยังมองด้วยว่า อาจจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง วุ่นวายไปกันใหญ่ หากนายพิธา ได้รับการโหวตเลือกในสภา แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ และเกรงว่า การพิจารณาของกกต.ในเรื่องนี้ อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจไม่โหวตให้กับนายพิธาได้ หากเป็นไปได้จึงอยากให้กกต.ระงับการส่งศาลต่อรัฐธรรมนูญ แต่หากกกต.ยังจะส่งไป ซึ่งศาลน่าจะเป็นการรับ 2 ส่วน คือเรื่องคุณสมบัติ และการขอให้ระวับการปฏิบัติหน้าที่ ตนก็จะทำเรื่องคัดค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณายกคำร้องของกกต.ออก
ทั้งนี้ แม้ส่วนตัวจะมองว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่มีความจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่หาก กกต.ต้องทำตามหน้าที่ ตนก็มองว่า ควรให้ผ่านการโหวตเลือกนายกฯ ไปก่อน เพราะมองว่าจะไม่เกิดความเสียหายกับกกต.