การประกาศเตรียมกลับไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ซึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพ นายทักษิณ เนื่องในวันเกิดครบรอบ 74 ปีพร้อมระบุว่า ..พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง ทำให้อุณหภูมิการเมืองที่ร้อนแรง ยิ่งทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมหมายถึงนายทักษิณพร้อมการเดินเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายจากผลของคดีต่าง ๆ ทันที
"ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมคดีที่ยังค้าง อยู่ระหว่างการไต่สวน และที่หมดอายุความไปแล้วของ ทักษิณ ชินวัตร มาไว้ให้ที่นี่
คดีที่ศาลตัดสินแล้วนายทักษิณมีความผิด
1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติโดยมิชอบ
ศาลพิจารณาเห็นว่า ในระหว่างที่นายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้มีการออกสลากพิเศษหวยบนดินในปี 2546-2549 ซึ่งแม้จะมีการทักท้วงว่า การออกสลากดังกล่าวขัดต่อกฎหมายแต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้มีการยับยั้ง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
2.คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
3.คดีให้บุคคลอื่นถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น 1. ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี 2. ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
คดีที่ศาลตัดสินแล้วแต่หมดอายุความ 1 คดี
คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551
สำหรับคดีนี้ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษา นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
ศาลฯ ยกฟ้อง 2 คดี
คดีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI คดีดังกล่าวศาลฎีกาฯ ได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายื่นยกฟ้องตามเดิม
คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครกว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า "ซูเปอร์บอส" หรือ "บิ๊กบอส" ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือ นายทักษิณ
ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา 1 คดี
คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ แบบจีทูจีล็อต 2 นายทักษิณ ปรากฏชื่อเป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยแจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติมว่า มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ตีตกข้อกล่าวหาแก่นายทักษิณในคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่า ไม่มี “เทปลับ” ที่อ้างถึงการสั่งการของนายทักษิณ ให้ดำเนินโครงการระบายข้าวจีทูจีจริง
ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการไต่สวน 1 คดี
คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น โดย ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายทักษิณ พร้อมพวกรวม 5 รายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ และนายพิเชษฐ สถิรชวาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บมจ.การบินไทย
ปัจจุบันมีการตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดี และมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ยกเว้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา