นักวิชาการ ประเมิน ทักษิณกลับไทย 10 ส.ค. ถูกที่แต่ผิดเวลา

26 ก.ค. 2566 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2566 | 08:20 น.

นักวิชาการ ประเมิน ทักษิณกลับไทย 10 สิงหาคม 2566 ถูกที่แต่ผิดเวลา แนะรอจังหวะเหมาะเพื่อไทยตั้งรัฐบาลบริหารประเทศก่อนค่อยกลับดีกว่า ฝ่ายมั่นคงจับตามวลชนส้ม-แดง

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ว่า การประกาศเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณครั้งนี้ ประเมินว่า ถ้าจะให้เหมาะจริง ๆ อดีตนายกฯ ยังไม่ควรกลับมาตอนนี้ 

ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ในกรณีการจัดตั้งรัฐบาลทำได้สำเร็จ และพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ควรให้เวลาในการบริหารราชการแผ่นดินไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายหลายอย่างเกิดผลก่อน แล้วจังหวะนั้นถ้านายทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาคงจะมีความเหมาะสมมากที่สุด

“จริง ๆ จังหวะที่เหมาะฝั่งวิชาการประเมินว่า ควรปล่อยให้พรรคเพื่อไทยบริหารไปสักพักก่อนแล้วเมื่อมีผลงานในการบริหารประเทศออกมาดี เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง ก็ค่อยกลับมาก็ได้ และอาจจะทำให้ประชาชนยอมรับการกลับมาของนายทักษิณได้มากกว่ากลับมาในช่วงนี้ก็ได้ เพราะถ้าการกลับมาในช่วงการเมืองยังไม่ลงรอย และการประกาศครั้งนี้มองว่าก็อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดก็ได้”

 

ภาพประกอบข่าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทย 10 สิงหาคม 2566

ศ.ดร.อรรถกฤต ประเมินอีกว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองยังคงมีความร้อนแรงอยู่ และมีความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มคนสองกลุ่มที่มีมุมมองความคิดเห็นที่ต่างกันกับกรณีนี้ ซึ่งถ้ากลับมาช้ากว่านี้จะเป็นผลที่ดีกว่าแน่นอน

“การประกาศกลับมาในวันที่ 10 สิงหาคม นี้ ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งว่าการจัดตั้งรัฐบาลได้ข้อสรุปและประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่แล้วก็เป็นได้” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

 

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมือง

นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า จริง ๆ เชื่อว่าทางฝ่ายความมั่นคงก็ได้เตรียมตัวในเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่งในกรณีที่นายทักษิณจะเดินทางกลับไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าสุดท้ายแล้วกลับมาไม่ได้ หรือทำไม่สำเร็จ ก็อาจมีความเสี่ยงเกี่ยวกับความขัดแย้ง ผ่านการเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งสองฝ่าย คือฝั่งผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลและฝ่ายที่สนับสนุนนายทักษิณด้วย 

“ตอนนี้มองว่าทางฝ่ายความมั่นคงก็น่าจะกำลังประเมินสถานการณ์ของมวลชนกลุ่มต่าง ๆ อยู่ว่าจะเป็นอย่างไร มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในลักษณะไหนจะมีการเผชิญหน้ากันหรือไม่ แต่เชื่อว่าถ้าการจัดตั้งรัฐบาลได้ข้อสรุปเร็วทุกอย่าง็น่าจะค่อย ๆ คลายตัวลง”