วันนี้ (23 ส.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่
จากเหตุนายพิธา ผู้ถูกร้อง เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยระหว่างการพิจารณา นายพิธา ผู้ถูกร้องยื่นคำร้อง ลงวันที่ 21 ส.ค.2566 ขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตตามขอ
นอกจากนี้ในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2
ที่เสนอร่างพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่นั้น
ศาลฯ เห็นว่า ศาลฯ ได้อนุญาตให้ผู้ถูกร้องทั้งสองขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ไว้ จึงให้เลื่อนการพิจารณาในนัดต่อไป
ขณะเดียกวัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
จากเหตุนายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริงซึ่งจะทำให้ นายศักดิ์สยาม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 187
ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม อาจสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 1 8 7 หรือไม่ด้วย
โดยศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำคำชี้แจงเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด