"ประยุทธ์" เข้าทำเนียบวันสุดท้าย วันนี้ เปิดทาง "เศรษฐา" นั่งนายกฯ

31 ส.ค. 2566 | 01:41 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2566 | 01:52 น.

พล.อ.ประยุทธ์ เข้าทำเนียบรัฐบาล วันนี้ เป็นวันสุดท้าย เปิดทาง นายกฯ “เศรษฐา” เข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ทีมงานรัฐบาลใหม่เข้าเตรียมสถานที่ก่อน แต่ยังคงรักษาการและทำงานจนกว่า ครม. ชุดใหม่ถวายสัตย์ฯ

วันนี้ (31 สิงหาคม 2566) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีมีการเผยข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้เป็นวันสุดท้าย และจะไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 

น.ส.รัชดา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังคงรักษาการณ์อยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ถวายสัตย์ปฎิญาณตน 

ทั้งนี้ ด้วยมารยาททางการเมือง นายกรัฐมนตรีมีความประสงค์อยากให้เวลาคณะทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาเตรียมสถานที่ปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ จึงจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบวันนี้เป็นวันสุดท้าย

โดยนายกฯ ยังคงมีภารกิจในเรื่องการพิจารณาลงนามเอกสาร ซึ่งทำได้ตามปกติ โดยจะไม่ขัดต่อมาตรา 169 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

"ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ตั้งใจทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้าน ให้ประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อความสงบสุข และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน จากนี้จะเป็นกำลังใจให้ทุกคนทำงานเพื่อบ้านเมือง" นางสาวรัชดา กล่าว

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย คนที่ 29 มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 รวมระยะเวลา 8 ปี 363 วัน หลังจากนั่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำรัฐประหาร รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ประวัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เกิดวันที่ 21 มีนาคม 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู โดยเป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน 

โดยสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ก่อนเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) 

พล.อ.ประยุทธ์ รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ "ทหารเสือราชีนี"  มาโดยตลอด โดยเริ่มมาจากตำแหน่งผู้บังคับกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 
โดยเขาเป็นหนึ่งสมาชิก "บูรพาพยัคฆ์" ของกองทัพ กับพี่ใหญ่สองคน คือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การศึกษา

  • พ.ศ. 2514 – โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12
  • พ.ศ. 2519 – โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23
  • พ.ศ. 2519 - หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51
  • พ.ศ. 2524 – หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34
  • พ.ศ. 2528 – หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63
  • พ.ศ. 2550 – หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 2 รอ.)
  • พ.ศ. 2541 – ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)
  • พ.ศ. 2546 – ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.)
  • พ.ศ. 2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 )
  • พ.ศ. 2551 – เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.)
  • พ.ศ. 2552 – รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.)
  • พ.ศ. 2553 – ผู้บัญชาการการทหารบก (ผบ.ทบ.)
  • พ.ศ. 2557 – หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2529 – เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 2 ประเภทที่ 1
  • พ.ศ. 2533 – เหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร
  • พ.ศ. 2542 – ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว)
  • พ.ศ. 2548 – ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
  • พ.ศ. 2551 – มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2553 – มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์/เครื่องอิสริยาภรณ์ ต่างประเทศ

  • พ.ศ. 2554 – Honorary Malaysian Armed Forces Order for Valour (First Degree) Gallant Commander of Malaysian Armed Forces (มาเลเซีย)
  • พ.ศ. 2555 – Pingat Jasa Gemilang (Tentera) (สาธารณรัฐสิงคโปร์)
  • พ.ศ. 2555 – Bintanng Kartika Eka Pakci Utama (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย)
  • พ.ศ. 2556 – Region of Merit (Degree of Commander) (สหรัฐอเมริกา)

ราชการพิเศษ ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

  • พ.ศ. 2530 – มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ราชองครักษ์เวร
  • พ.ศ. 2542 – ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารเสริมกำลังพิเศษ
  • พ.ศ. 2444 – ปฏิบัติหน้าที่ รองหัวหน้านายทหารเสริมกำลังพิเศษ
  • พ.ศ. 2552 – มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ราชองรักษ์พิเศษ
  • พ.ศ. 2555 – มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ตุลาการศาลทหารสูงสุด

ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายทหารพิเศษฯ ประจำหน่วย

  • พ.ศ. – 2545 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
  • พ.ศ. – 2547 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
  • พ.ศ. – 2549 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ
  • พ.ศ. – 2554 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

รางวัลทางสังคม

  • พ.ศ. 2548 – ได้รับรางวัลคนดีสังคมไทย สาขาส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงของชาติ
  • พ.ศ. 2549 – รางวัลเกียรติยศจักรดาว สาขาการทหาร
  • พ.ศ. 2553 – รางวัลมหิดลวรานุสรณ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2554 – ได้รับการลงคะแนนให้เป็นอันดับ 1 สุดยอดซีอีโอของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554 จากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม