นับเป็นครั้งแรกหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา (11-12 ก.ย.) ที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดห้องบัวแก้ว ที่ กระทรวงการต่างประเทศ นำนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยและทีมที่ปรึกษา พร้อมด้วยผู้บริหารและข้าราชการกระทรวง พบปะสื่อมวลชน เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการดำเนิน นโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา
เหมือนกลับมาในที่คุ้นเคย ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่
นายปานปรีย์เกริ่นนำปูแบ็คกราวนด์ก่อนว่า ตนเองมีความคุ้นเคยกับกระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะมีปู่คือ “พระพหิทธานุกร” เป็นอดีตปลัดกระทรวง ที่เคยดำรงตำแหน่งอดีตเอกอัครราชทูตประจำในหลายประเทศ ขณะที่บิดา คือนายปรีชา พหิทธานุกร ก็เคยทำงานเป็นข้าราชการกระทรวง ตอนเด็กๆ จึงมีโอกาสเดินทางเพื่อติดตามการทำงานในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าบิดาจะเติบโตในต่างประเทศ แต่กลับอยากให้ตัวเขาอยู่ที่ไทย เรียนที่ไทย และมีเพื่อนคนไทย ทำให้เขาได้เรียนที่ประเทศไทยตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และระดับปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ Claremont Graduate University (CGU) สหรัฐอเมริกา
“ตอนเด็กๆ ผมเคยไปวิ่งเล่นอยู่แถววังสราญรมย์ เมื่อตอนที่กระทรวงฯ ยังคงตั้งอยู่ใกล้กับกระทรวงกลาโหม ถ.ราชดำเนิน จึงเหมือนว่าได้กลับมาอยู่ที่ที่คุ้นเคย คือคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของคนในกระทรวง พอเข้ามา (ในครั้งนี้) จึงไม่รู้สึกแปลกแยก” รัฐมนตรีปานปรีย์กล่าวต่อไปว่า หากพูดตามตรง ก็คือมีความรู้สึกผูกพันและรัก อยากจะให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นที่รู้จักในระดับโลกโดยเฉพาะกับคนไทย อยากให้กระทรวงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น และทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น
นโยบายของกระทรวงและเป้าหมาย
ปัจจุบัน โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก สมัยก่อนในยุคของกระแสโลกาภิวัฒน์ นำมาซึ่งทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่ เวลานี้ โลกกำลังเข้าสู่ “ยุคภูมิรัฐศาสตร์” มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหลายเรื่อง ดังนั้น นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องความมั่นคง และการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ยังไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร
ทั้ง 3 สิ่งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ตนเน้นย้ำกับบุคลากรและข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ให้ทำการบ้านในเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมใน 3 ด้านนี้ ได้แก่
โดยหลังจากนี้ จะมีการเชิญเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทย ที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก ให้กลับมาราวต้นเดือน พ.ย. นี้ เพื่อร่วมประชุม พบปะทำความรู้จักกัน และจะได้มอบนโยบาย รวมทั้งการกำหนดความสำคัญของแต่ละประเทศที่ไทยมีความสัมพันธ์ด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก โดยเฉพาะการสานต่อการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) FTA ไทย-อังกฤษ และ FTA ไทย-กลุ่มประเทศอาหรับ (GCC)
เชื่อมั่นนำไทยกลับมาผงาดในเวทีโลก
นายปานปรีย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกำลังจะติดตามคณะของนายกรัฐมนตรีไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย.นี้ เป็นภารกิจแรกในต่างประเทศ แสดงความเชื่อมั่นว่า ภายใต้การบริหารของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐบาลจะสามารถทำให้ประเทศไทยกลับมามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงต่างๆ สื่อมวลชน และประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงมีโครงการ public diplomacy หรือการทูตสาธารณะ ที่จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น โดยหลังการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริการ่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี เพื่อประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 หรือ UNGA78 ที่นิวยอร์กในวันที่ 18-24 ก.ย. นี้ ตนจะกลับมาลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีชายแดนติดกับกัมพูชา เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆในพื้นที่ ครอบคลุมด้านความปลอดภัย การค้าข้ามชายแดน บุคคลข้ามแดน ฯลฯ ก่อนจะเดินทางเยือนประเทศกัมพูชา เป็นลำดับต่อไป (นายกรัฐมนตรีจะเยือนประเทศกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศแรก ตามธรรมเนียมปฏิบัติหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่)
แนะนำรัฐมนตรีช่วย และขุนพลเศรษฐกิจ-การต่างประเทศ
ในงานเลี้ยงเดียวกันนี้ นายปรานปรีย์ยังได้แนะนำสื่อมวลชนให้ได้รู้จักกับ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับทีมที่ปรึกษา โดยตัวนายจักรพงษ์เองนั้น ปัจจุบันอายุ 44 ปี สำเร็จปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัย Metropolitan State University of Denver และปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัย Colorado of Denver ถือเป็นขุนพลทางเศรษฐกิจคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย เคยผ่านงานเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่างปี 2555 – 2557 เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ปี 2554 – 2557 และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (2554 – 2555)
รมช.จักรพงษ์ มาพร้อมกับที่ปรึกษารัฐมนตรี คือ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยในนาม “ทูตรัศม์” อดีตนักการทูตที่มีความเชี่ยวชาญและมีสายเลือดนักการทูต เป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำประเทศโมซัมบิก และเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยที่ประเทศคาซัคสถานก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ทูตรัศม์ยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador ซึ่งปัจจุบันมีคำว่า Returns ต่อท้ายชื่อเพจ แสดงทัศนะส่วนตัวอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตและข่าวสารรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตั้งคำถามต่อเหล่านักการทูตในการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งก็คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แน่นอนว่า การเข้ามารับบทบาทที่ปรึกษารมช.กต.ในครั้งนี้ ทูตรัศม์ คงได้แสดงฝีมือทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติดังที่กล่าวไว้ ให้ได้ประจักษ์เป็นรูปธรรม
อีกบุคคลสำคัญที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฯ คือ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส และอดีตประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่งตั้งให้ท่านเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามข้อเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมืองของกระทรวงการต่างประเทศ ภารกิจใหม่นี้ทำให้ท่านต้องวางมือจากตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาดูแลงานที่ปรึกษาภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโดยเฉพาะ
นั่นหมายถึงการผลักดันและขับเคลื่อนการพลิกบทบาทของไทยที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ สะท้อนมุมมองเอาไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้งว่า เป็น “บทบาทนำที่หายไป” ในอาเซียน และยังเป็นบทบาทที่ดำเนินการต่ำกว่าความสามารถจริงๆของประเทศไทย (underperform) ทั้งที่ศักยภาพไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 23 ของโลกและอันดับ 2 ของอาเซียน ทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางยุทธศาสตร์ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐบาลใหม่นี้ นอกจากนี้ เรายังจะได้เห็น การสร้างความสมดุลของไทย ที่ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยไม่เข้าข้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หากแต่จะตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ซึ่งจะเป็นไปอย่างไรนั้น ในการประชุมประจำปีเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกที่กระทรวงการต่างประเทศปลายปีนี้ ก็จะได้เห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น