ด่วน! มีลุ้นไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” 2.4 หมื่นล้านบาท

18 ก.ย. 2566 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 08:07 น.

มีลุ้นไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ หลังรับพิจารณาคดีใหม่ ชี้โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีหลังพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

วันนี้ (18 ก.ย. 66 ) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 

หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 65  โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า บริษัทโฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
 

รายละเอียด “ฐานเศรษฐกิจ” จะนำเสนอในลำดับถัดไป 

ก่อนหน้านั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาว่า ไทยชนะคดีโฮปเวลล์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้บังคับคดี ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่าย รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ

ประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่คดีถึงที่สุด

แต่เนื่องจาก บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาในวันที่ 30 ม.ค.2541 จนกระทั่งวันที่ 24 พ.ย.2547 บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะฟ้องร้องคดีจนถึงศาลปกครองในเวลาต่อมา ตามกฎหมายแล้วการจะยื่นคำร้องต่ออนุญาโตฯ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้เฉพาะ จะต้องทำ ใน 5 ปี นับแต่วันที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา

แต่ บริษัท โฮปเวลล์ กลับยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือหมด ‘อายุความ’ ที่จะสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้นำคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ไว้พิจารณา