รายงานข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยว่า วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก (ในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่) คดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์ โดยการนั่งพิจารณาคดีในครั้งนี้เสร็จสิ้นเวลา 14.20 น. ทั้งนี้ศาลปกครองได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 18 ก.ย. 2566 เวลา 13.30 น.
ตุลาการศาลปกครอง ให้ความเห็นว่า บริษัทโฮปเวลล์ได้ยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย โดยศาลปกครองได้กำหนดว่าคดีเก่าที่ยังมีระยะเวลาและมีอายุความสามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลปกครองเริ่มเปิดทำการ คือ วันที่ 11 ต.ค.2542 ส่งผลให้การยื่นฟ้องร้องของบริษัทโฮปเวลล์นั้นขาดอายุความ ซึ่งคดีดังกล่าวล่าช้ากว่า 4 ปี ทำให้ไม่มีผลตามกฎหมาย เป็นเหตุให้การยื่นร้องของบริษัทโฮปเวลล์ฟังไม่ขึ้น
ตุลาการศาลปกครอง เห็นควรให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.เพิกถอนตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ 2.ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 2 คน คือ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 3.ให้คำสั่งศาลงดบังคับคดีคดีที่เคยพิจารณาไปก่อนหน้านี้ โดยให้มีผลใช้ในช่วงระยะเวลาที่ยังมีการอุทธรณ์คดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน
รายงานข่าว ระบุต่อว่า ความเห็นของตุลาการในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความพยายามรื้อฟื้นคดีข้อพิพาทโครงการโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาใหม่เป็นผลแล้ว โดยตุลาการเห็นด้วยกับประะเด็นของอายุความ ที่อาจขัดต่อข้อกำหนด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า หากนับอายุความเมื่อศาลปกครองเปิดทำการ ที่กำหนดว่าคดีข้อพิพาทก่อนจัดตั้งศาลปกครองนั้น จะต้องยื่นมายังตุลาการภายใน 1 ปี หลังจัดตั้งศาล และมีอายุความไม่เกิน 10 ปี แต่กลับพบว่าคดีโฮปเวลล์นี้ได้มายื่นคำร้องต่อศาลล่าช้ากว่ากำหนด
"ความเห็นของตุลาการยังไม่ใช่คำตัดสินชี้ขาดของคดี อย่างไรก็ต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองก่อน แต่หากศาลปกครองพิจารณาตามความเห็นของตุลาการ ก็จะมีผลทำให้คดีเรียกร้องค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาโฮปเวลล์นั้นไม่เป็นผล เพราะถือว่าขาดอายุความ"
นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครองว่า การกระทำของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 213 มาโดยตลอด เนื่องจากผู้ร้องทั้ง 2 คน ไม่ใช่ผู้เสียหาย ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 กำหนดบุคคที่ได้รับความคุ้มครองคือประชาชน ซึ่งการกระทำของทั้ง 2คน ถือเป็นการกระทำที่เสียเปล่าที่ไม่มีผลบังคับใช้
นอกจากนี้คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ระบุว่า การกระทำของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคม ขัดเจตนาของรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก รฟท.ไม่มีอำนาจยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนจากรฟท.และกระทรวงคมนาคม ด้วยเช่นกัน เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 213
นายสุภัทร ได้แถลงต่อศาลปกครองอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กำหนดให้ผู้ที่ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ต้องเป็นประชาชนหรือเอกชนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรง ทำให้กระบวนการดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งหมด