ศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์

19 ก.ย. 2566 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2566 | 10:52 น.

ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เหตุยังไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA พร้อมระบุเหตุผลจากคำให้การ "อธิบดีกรมศิลปากร" ฟังได้ว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถาน ตามกฎหมาย


วันที่ 19 ก.ย.2566ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างสะพานค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ  โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันออกคำสั่ง

ทั้งนี้คดีดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย สมาคมเรือไทย และประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนชัยพฤกษ์ 33 รวม 42 รายยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 2

ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพานค.ส.ล.เลขที่ 253/2561 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2561ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพานคสล. เลขที่ 048/2561 ลงวันที่ 12 ก.ย. 61 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเลขที่ 001/2562 ลงที่ 7 พ.ย.61 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระบุว่า จากคำให้การของอธิบดีกรมศิลปากรฟังได้ว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถาน ตามกฎหมาย

ศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์

ประกอบกับการที่บริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ)จำกัด ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างสะพานค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อใช้เป็นทางสัญจรกับซอยชัยพฤกษ์ 33 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชันกรุงเทพฯที่เป็นถนนสาธารณะ เป็นการก่อสร้างทางหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบกใกล้โบราณสถาน 

ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งตามมาตรา 48 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ประกอบข้อ 3 ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเอกสารท้ายประกาศ 4 ลำดับที่ 20.7

กำหนดให้บริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ) จำกัด ในฐานะผู้ขออนุญาตก่อสร้างต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการขออนุญาตด้วย 

เมื่อข้อเท็จจริงพบว่ายังไม่ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวที่นอกจากจะมีผลต่อคลองมหาสวัสดิ์แล้วยังมีผลต่อการสัญจรและอาชีพของประชาชนที่ต้องอาศัยคลองดังกล่าวด้วย เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการนี้จึงยังไม่อาจสั่งอนุญาตได้ 

อีกทั้งการอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและการอนุญาตของเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่การอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานของอธิบดีกรมศิลปากร ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

ศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์

การอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุของอธิบดีกรมธนารักษ์ ตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ การอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของเจ้าท่า ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือการให้ความยินยอมของกรมชลประทานในฐานะผู้ครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ของมหาสวัสดิ์ซึ่งยังไม่อาจใช้อำนาจดังกล่าวได้เช่นกัน

ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือ      สะพานค.ส.ล.โดยยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการย่อมเป็นการสั่งอนุญาตโดยขัดต่อพรบส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535

อีกทั้งเป็นการอนุญาตโดยที่บริษัทผู้ขออนุญาตยังไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวโดยถูกต้องครบถ้วนใบอนุญาตทั้ง 3 ฉบับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย