ตกเป็นประเด็นร้อนเมื่อ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ตัดสินใจยื่นใบลาออกก่อนถึงวันเกษียณอายุราชการเพียง 1 ปี การตัดสินใจในครั้งนี้ถูกตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงกับข้อพิพาทในคดีที่ดินเขากระโดงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในขณะที่นายชยาวุธ นั้น เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
โดยศาลพิพากษาให้ กรมที่ดิน โดย อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ รวมกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีรายงานระบุว่า มีนักการเมืองชื่อดังเกี่ยวข้องด้วย อาจเป็นแรงกดทับที่ทำให้ นายชยาวุธ ตัดสินใจปิดฉากชีวิตราชการก่อนกำหนด
สำหรับที่ดินเขากระโดงของ รฟท.ที่เกิดข้อพิพาทในครั้งนี้ แบ่งเป็น กลุ่มที่ดิน 35 แปลง ซึ่งเป็น ส.ค.1 โดย กรมที่ดิน เพิกถอนคืนรฟท.แล้ว ตามคำพิพากษาศาลเมื่อปี 2561 ตั้งอยู่บริเวณปลายกิโลเมตรที่ 8 ทางรถไฟแยก บุรีรัมย์เข้าเขากระโดง โดยเมื่อปี 2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาที่ดินแปลงเล็กเป็นน.ส.3 ซึ่งชาวบ้านครอบครอง ตั้งอยู่ช่วงกลางแผนที่ หรือติดริมถนนประโคนชัย บุรีรัมย์ ปัจจุบัน กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนแล้ว
อีกกลุ่มจำนวน 5,083 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองกลางข้างต้น ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงที่ดิน 12 แปลงของคนในตระกูลชิดชอบ เนื้อที่รวม 179 ไร่ 1 งาน 43.3 ตารางวา
ทั้งนี้ ภายหลังเกิดกระแสข่าวการลาออกของอธิบดีกรมที่ดิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์โดยยืนยันการลาออกของ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดินว่า นายชยาวุธ ให้เหตุผลว่า เพื่อไปดูแลครอบครัว ทั้งยังยืนยันด้วยว่า กรณีข้อพิพากคดีที่ดินเขากระโดงนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการลาออกในครั้งนี้ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ขอให้ "อธิบดีกรมที่ดิน" ทบทวนการลาออกอีกครั้ง
จากการสอบถามของ "ฐานเศรษฐกิจ" แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุถึงสาเหตุของการตัดสินใจลาออกของนายชยาวุธ ว่า มีหลายสาเหตุด้วยกันซึ่งการลาออกจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เมื่อถามย้ำถึงสาเหตุการลาออกในครั้งนี้ว่า เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทคดีที่ดินเขากระโดงหรือไม่ แหล่งข่าวรายนี้ระบุโดยตอบเพียงสั้น ๆ ว่า "มีหลายสาเหตุ"
สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่า คดีข้อพิพาทเรื่องที่ดินเขากระโดงระหว่าง รฟท.กับกรมที่ดิน เป็นสาเหตุของการตัดสินใจยื่นใบลาออกของ นายชยาวุธ อธิบดีกรมที่ดินในครั้งนี้นั้น พาย้อนกลับไปทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้งว่า มีที่มาเป็นอย่างไร
ย้อนรอยมหากาพย์ คดีที่ดินเขากระโดง
เริ่มจาก 8 พฤศจิกายน 2462 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง โดยประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้ กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา (ข้ามลำน้ำมูล ต.ท่าช้างอ.พิมาย) ไปยังจังหวัดบุรีรัมย์จนถึงอุบลราชธานี (อ.วารินชำราบ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี
โดยห้ามเจ้าของที่ดินที่ครอบครองที่ในเขตรถไฟก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 ยกให้หรือซื้อขาย และเปลี่ยนกับผู้ใดผู้หนึ่ง ห้ามสร้างบ้าน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาต ซึ่ง รฟท. มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ เขากระโดง และบ้านตะโก ทำทางรถไฟเพื่อเข้าแหล่งระเบิดและย่อยหิน ระยะทาง 8 กิโลเมตร โดย 4 กิโลเมตรแรก มีเจ้าของที่ดิน 18 ราย อีก 4 กิโลเมตร จนถึงแหล่งหินไม่มีเจ้าของ
ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 มีการพบข้อพิพาทระหว่าง นายชัย ชิดชอบ และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจา นายชัยยอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย รฟท. ยินยอม จากนั้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2515 ได้มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ "ละออง ชิดชอบ" เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2535 ก่อนจะมีการนำไปขายต่อให้ บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์ ซึ่งในเวลาต่อมา พรรคประชาชาติ ตรวจสอบพบการครอบครองที่ดินเขากระโดงเพิ่มอีก 12 แปลงและนำมาตีแผ่ต่อสาธารณะด้วย
13 มีนาคม 2557 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่ราษฎร 35 คน ฟ้อง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนด โดยศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ยกฟ้อง พิพากษาว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. ให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้ รฟท. ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับรฟท. เป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป
กระทั่งวันที่ 24 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่ราษฎร ฟ้อง รฟท. และกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดโดยอ้างว่า มีหนังสือรับรองขอทำประโยชน์ (น.ส.3ข.) ที่ซื้อมาจาก นายช. ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ยกฟ้อง โดยพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. ให้โจทก์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้รฟท. ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป
จากนั้นวันที่ 13 มีนาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ ยืนตามศาลชั้นต้น ระบุว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. ให้เพิกถอนสิ่งก่อสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว
25 กรกฎาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีราษฎรอ้าง น.ส.3 ข.ของนายช. ไปขอออกโฉนด โดยศาลพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นว่า ที่ดินเป็นของ รฟท.ให้เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
6 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกาพิพากษาคดีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อขอออกโฉนด โดยศาลพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน ***คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 842-876/2560 หน้า 42-44 ได้พิพากษาชัดเจนว่า ที่ดินดังกล่าวได้อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นที่ดินการรถไฟที่สงวนหวงห้ามเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) (11) และได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 6 (12) ตาม พ.ร.บ.จัดวางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้น ความเห็นของกรมที่ดินรับฟังไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น
กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)มีคำสั่งที่ 10/2560 ให้นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ซึ่งหลังจากดำรงตำแหน่งรักษาการฯ ได้มอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ (โฉนดจำนวน 2 แปลง และ น.ส.3 จำนวน1 แปลง) ราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อ รฟท. ได้รับความเสียหาย ไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ (ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) แต่ไม่มีการฟ้องเพิกถอน โฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง
22 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกาพิพากษาในคดีที่ราษฎร นำ น.ส.3 ข. ที่ซื้อจากนายช. ขอให้ออกโฉนด โดยศาลฎีกาพิพากษายืนว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดิน
ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล "การรถไฟแห่งประเทศไทย"
6 สิงหาคม 2562 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่ รฟท. ฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อ รฟท. ได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยพิพากษาว่า รฟท. เป็นเจ้าของของที่ดินพิพาททั้งหมด เมื่อไม่ปรากฏว่า ได้มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ที่ดินพิพาทขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็หาทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดสภาพไปจากที่ดินรถไฟ
จึงถือว่า การที่จำเลยทั้ง 4 ครอบครองที่ดินโจทก์อยู่เป็นการกระทำที่จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทั้งการที่จำเลยทั้ง 4 คงครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งหมดได้ ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้ รฟท. ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับรฟท.ด้วย
22 เมษายน 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีการรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อ รฟท. ได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยศาลพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า รฟท. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วยว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ระหว่าง รฟท. (ผู้ฟ้องคดี) กับกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ อธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง)
โดยศาลฯพิพากษาให้ อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีการหนังสือแสดงสิทธิฯ 772 ฉบับ แบ่งเป็น โฉนด 396 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 376 ฉบับ
1 พฤษภาคม 2566 รฟท.ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดในประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดหรือค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินเขากระโดง เนื่องจาก รฟท.ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า กรมที่ดิน ไม่ได้ละเมิด รฟท. จึงไม่ต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์ฯ จำนวน 707 ล้านบาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 59.9 ล้านบาท
18 พฤษภาคม 2566 กรมที่ดิน โดยนายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้แจ้งต่อศาลปกครองกลางมีเนื้อหาว่า รองอธิบดี ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. อันเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว
9 มิถุนายน 2566 ได้รับแจ้งว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีที่ดินเขากระโดง และศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์นั้น ได้ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้
เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ นายชยาวุธ อธิบดีกรมที่ดิน ถอดใจตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในครั้งนี้ทั้ง ๆ ที่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 1 ปีก็จะเกษียณราชการแล้วหรือไม่