"หมอวรงค์"ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลปกครองล้มแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

18 ต.ค. 2566 | 06:54 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 07:04 น.

"หมอวรงค์"ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลปกครองล้มแจกเงินดิจิทัล ชี้เดินหน้าเสี่ยงทำชาติวิกฤต เปิดช่องรายใหญ่ฟอกเงินสีเทา เชื่อคนรวยได้ประโยชน์ แต่อ้างคนจนบังหน้า

วันนี้ (18 ต.ค. 66) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล

นพ.วรงค์ กล่าวว่า การมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินวันนี้ ตั้งเป้า 2 ประเด็น คือ ต้องการขอให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลปกครองพิจารณา และยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลได้หาเสียงประกาศที่จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน โดยจะใช้วงเงินราว 5 แสนกว่าล้านบาท มีข้อกังวลใจว่า ถ้าต้องการช่วยเหลือคนจนทำไมถึงต้องแจกให้กับคนรวยด้วย 

“เอาง่ายๆ คือ ส.ส.1 คน มีผู้ช่วย 8 คน เฉพาะ ส.ส.รวมครอบครัวก็จะได้ประมาณ 8 แสนบาท หรือ ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีก็จะได้ 4-5 หมื่นบาท และที่เป็นข้อกังขา คือ ทำไมแจกเป็นเงินดิจิทัล หรือ โทเคน ซึ่งมีความซับซ้อน เพราะต้องมีการแลกเปลี่ยนจากเงินสดเป็นโทเคน และโทเคนเป็นเงินสด”

โดยเฉพาะเงื่อนไขของการจ่ายเงินโทเคนที่ระบุว่าต้อง 6 เดือนขึ้นไปถึงจะแลกเป็นเงินสดได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนยากจน เพราะผู้ค้ารายย่อยเขาต้องหมุนเงินทุกวันซึ่งจะเป็นอุปสรรค ทำให้โทเคนไปกองอยู่ที่นักธุรกิจรายใหญ่ 

นอกจากนี้ คนยากจนต้องการเงินสดไม่ได้ต้องการเงินโทเคน ซึ่งก็จะนำไปสู่การฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ ในการรับซื้อโทเคนจากคนยากจนที่เขาต้องการเงินสด อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่า จะนำเงินจากไหนมาทำโครงการนี้ จึงกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การทุจริตกระจายไปทั้งแผ่นดิน 

“โครงการนี้ไม่ได้ช่วยคนจน แต่ช่วยคนรวย โดยเอาคนจนมาบังหน้า และสิ่งที่กระทำทั้งหมดจะนำไปสู่การขัดต่อกฎหมายหลายมาตรา ทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 162, 164 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เพราะโครงการนี้เป็นการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล เพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมือง และการนำโทเคนมาใช้จ่ายแทนธนบัตร เสี่ยงขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา 2501 มาตรา 6 มาตรา  9 จึงต้องการบอกประชาชนว่า อย่าให้เขาหลอก 

ผมจึงได้รวบรวมข้อเท็จจริง ความเห็นจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อดีต รมว.คลัง มาเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลปกครองพิจารณาเพื่อยับยั้งโครงการดังกล่าว"

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ไม่ไปยื่นต่อศาลปกครองโดยตรง เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มต้น มาตรการทางปกครองจึงไม่ได้เกิด แต่มีการแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่อยากให้เกิดความเสียหายเหมือนโครงการจำนำข้าว 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหายก่อน จึงมีช่องทางเดียวคือ ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังศาลปกครอง ยกเว้นถ้ามีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการดำเนินโครงการ ก็จะถือว่ามาตรการทางปกครองเกิดขึ้นแล้ว สามารถที่จะยื่นตรงต่อศาลปกครองได้ 

ส่วนอีกข้อห่วงใย คือ ถ้ามีการดำเนินโครงการ และมีการแจกโทเคนซึ่งจะขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องผ่านไปแล้ว 6 เดือน หากในช่วงเวลานั้นเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น มีการยุบสภา เงินนี้ใครจะรับผิดชอบ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็จะไม่รับผิดชอบ จะต้องบอกว่าให้ไปขึ้นเงินกับรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ก็จะเกิดความวุ่นวายเกิดการผูกคอตายของผู้ค้ารายย่อย

เมื่อถามว่าเหตุยังไม่เกิดการไปร้องศาลปกครอง อาจจะไม่รับคำร้อง นพ.วรงค์ ย้ำว่า ตนไม่ต้องการให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย แต่สิ่งนี้มีการแถลงต่อรัฐสภาเป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว มีความตั้งใจกระทำให้เกิดขึ้น การกระทำที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น หากมีการวิเคราะห์จะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกเว้นมีมติ ครม.ดำเนินการแล้ว เสียหายแล้ว เราสามารถร้องตรงไปยังศาลปกครองและ ป.ป.ช.ได้ เรายังใจดีกับรัฐบาล เราไม่อยากเห็นนายกฯ หนี หรือ อยู่ในคุก     

เมื่อถามต่อว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ต่างจากโครงการจำนำข้าวอย่างไร นพ.วรงค์ กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการมีจุดเหมือนกันมาก โครงการรับจำนำข้าวมีงบประมาณ 94,000 ล้านบาท มีความเสียหายไม่ใช่เฉพาะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่นับไปถึงรัฐบาล นายสมัคร เสียหายเกือบ 9 แสนล้าน  เฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียหาย  6 แสนล้าน 

แต่โครงการดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท มีหน่วยงานออกมาเตือนไม่แตกต่างกับสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์  ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตายด้วยทุจริต แต่โครงการนี้ถ้ารัฐบาลเดินหน้า ก็จะตายด้วยทุจริต ด้วยการใช้โทเคน แต่ถ้าไม่ใช้โทเคน โอนเป็นเงินสดผ่านบัญชีโกงยาก อันนั้นอาจจะไม่ตาย แต่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับการเงินการคลังของประเทศ ขอเตือนหากใช้โทเคนเมื่อไหร่คุกรออยู่แน่นอน  

เมื่อถามว่าโครงการนี้จะเข้าข่ายฟอกเงินครั้งใหญ่อย่างไร      นพ.วรงค์  กล่าวว่า ตนเชื่อว่าโทเคนขณะนี้ชาวบ้านยังไม่รู้จัก ยิ่งการบังคับว่าต้องผ่านไป6เดือนถึงจะขึ้นเงินได้ ซึ่งชาวบ้านต้องการเงินสด ร้านค้าในหมู่บ้านไม่มีทางอยากจะรับเพราะไม่มีเงินหมุน เมื่อประชาชนต้องการเงินสด ร้านค้าหัวดี คนที่มีเงินสีเทาจำนวนเยอะๆ สามารถจะไปร่วมมือเอาเงินสีเทาไปรับซื้อโทเคน  วิธีการนี้เป็นกระบวนการฟอกเงินสีเทาของประเทศครั้งใหญ่ที่ประชาชนอาจคาดไม่ถึง  

“ถ้าผมเป็นนายเศรษฐาจะแถลงบอกเลยว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว  มันเป็นปัญหา มีอุปสรรค และประชาชนต้องการเงินสด  พี่น้องประชาชนไม่อยากจะเห็นเอาเงินสดไปให้ตระกูลเศรษฐีใหญ่ๆ หรือครอบครัว ส.ส. ส.ว.  

ดังนั้นเราจะลดไซส์ จะแจกเป็นเงินสด เฉพาะคนจนที่อยู่ในระบบที่เราต้องการจะช่วย อาจโดนด่านิดหน่อยแต่เชื่อประชาชนรับได้ ยังดีกว่าลุยไฟไปข้างหน้าแล้วมีความเสี่ยงต่อประเทศ เสี่ยงต่อพวกเราทุกคน  

ย้ำว่า เฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรา มาตรา 6  ที่คุณเอาวัตถุมาใช้แทนเงินตรา มันจะทำให้ประเทศเกิดเงินสองระบบ เป็นเงินของแบงก์ชาติที่มีกฎหมายรองรับ และเงินของรัฐบาลที่มีแต่รัฐบาลรองรับ ถ้าผมเป็นต่างชาติผมไม่ถือเงินบาทแน่นอน   ถ้าเกิดปัญหาแบงก์ชาติไม่ได้รับรอง อัตราแลกเปลี่ยนก็จะไหลออกไปเพราะคนไม่เชื่อค่าเงินบาท จึงขอเรียกร้องคุณเศรษฐา ถอยไปสักก้าวหนึ่ง ยอมโดนด่านิดหน่อย” 

นพ.วรงค์ ยังเชื่อว่า การที่นายกฯ ไม่ระบุถึงบริษัทพัฒนาระบบซุปเปอร์แอป และงบฯ ในการใช้สร้างระบบ เพราะรู้แล้ว แต่ไม่เปิดเผย มีตัวเลข และบริษัทอยู่ในหัวแล้ว  ถ้าหากแฟร์จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่รัฐบาลยังอึมครึม ไม่แฟร์ ไม่ตรงไปตรงมา จึงทำให้เกิดปัญหา ตนจึงเชื่อว่าการแจกเป็นโทเคน จะนำไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศ