เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ครั้งที่ 63/2566 ที่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยชดใช้ค่าเสียหาย 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และเงินอื่นๆ รวมมากว่า 2.7 หมื่นล้านบาท แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้อง ของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความ
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้คัดค้าน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดให้ความเป็นธรรม แก่ผู้คัดค้าน เนื่องจากการพิจารณาคดีใหม่มีถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการใช้สิทธิตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาตรา 75 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากข้อมูลที่กล่าวอ้างล้วนเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอายุความซึ่งได้มีการว่า กล่าวกันมาแล้วทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดอันถึงที่สุดแล้ว
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ครั้งที่ 2 เป็นกระบวนการที่มีการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มต้น หากการกระทำดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุดอันถึงที่สุดแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อนิติฐานะของคำพิพากษาอัน ถึงที่สุดแล้ว (Res judicata) ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
โดยเฉพาะศาลที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องใช้อำนาจอย่างยุติธรรมและคาดหมายได้ (Fair and Predictable Judiciary) เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน โดยเฉพาะหากพิพากษาว่าคดีขาดอายุความซึ่งเป็นประเด็นอันถึงที่สุดแล้วและการรื้อฟื้นประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นการกระทำที่ขัดหรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 46 วรรคสองและมาตรา 47(4) และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 212 วรรคสาม อย่างชัดแจ้ง
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณาและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ 221-223/2562