ผ่านมาแล้วร่วม 2 เดือน สำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของ เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย
โดย เศรษฐา ได้รับการโหวตเลือกจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 เห็นชอบด้วยคะแนน 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง จาก ส.ส.และส.ว. รวม 705 เสียง
ในเวลาต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป
สำหรับ “รัฐบาลเศรษฐา” เป็นรัฐบาล ที่ประกอบด้วย 11 พรรคการเมือง มีส.ส.สนับสนุนจำนวน 314 เสียง
แต่ในช่วง 2 เดือน หลัง เศรษฐา เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้อง “เผชิญศึกใหญ่” ที่ผ่านเข้ามา ต้องหาหนทางแก้ไข ทำให้สถานการณ์เบาบาง หรือ ยุติลง ขณะที่บางปัญหากำลังรอวัดฝีมือ ในการบริหารจัดการเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น
ยิง“บ้านกำนันนก”ตร.ดับ
ศึกใหญ่ที่ผ่านเข้ามาในช่วง 2 เดือนนั้น มีอะไรบ้าง ไปไล่เลียงกันดู...
เริ่มจากเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 เกิดเหตุยิงตำรวจเสียชีวิตภายในบ้าน ของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” แห่งเมืองนครปฐม เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. เสียชีวิต และมี พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล. ได้รับบาดเจ็บ
ถัดมาอีก 2 วัน คือ วันที่ 8 ก.ย. 2566 ตำรวจได้วิสามัญ นายธนัญชัย หมั่นมาก มือปืนที่ยิงตำรวจ เสียชีวิต ขณะหลบหนีการจับกุม
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 เกิดกรณี พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล. ยิงตัวเองเสียชีวิต หลังไปร่วมงานบ้านกำนันนก จนถูกสั่งลงโทษย้ายเข้ากรุไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)
ขณะเดียวกันมีตำรวจ 14 นายถูกแจ้งข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ตร.บุกค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก
พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.รรท.ผบก.ทล. สนธิกำลัง บช.สอท. ได้นำตำรวจคอมมานโด อาวุธครบมือ บุกสายฟ้าแลบ เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 9/147 และ 9/148 หมู่บ้านทาวน์อเวนิว ซิกซ์ตี้ ซอยวิภาวดีรังสิต 60 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. ซึ่งเป็นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. หรือ บิ๊กโจ๊ก ลักษณะบ้านทาวน์โฮม 3 ชั้นติดกัน 2 คูหา ซึ่งซื้อไว้ให้ลูกน้องพัก 5 หลัง เหตุเกิดเมื่อเช้าวันที่ 25 ก.ย. 2566
เหตุผลในการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ อ้างมีนายตำรวจลูกน้องเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ นำไปสู่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ขณะนั้น มีคำสั่งด่วน ย้าย 8 ตำรวจลูกน้อง "บิ๊กโจ๊ก" เข้ากรุ ศปก.ตร. โดยขาดจากตำแหน่งเดิม
กระทั้งวันที่ 28 ก.ย. 2566 “บิ๊กโจ๊ก” ได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนใหม่ เพื่อร่วมรับประทานข้าว พูดคุยกัน และปรากฏภาพชื่นมื่นออกมาโชว์ต่อสาธารณะ
...ว่ากันว่ามี “ใบสั่ง” เพื่อสยบภาพความขัดแย้ง จากเหตุการณ์ยิง “บ้านกำนันนก” ลามมาสู่เหตุการณ์ค้น“บ้านบิ๊กโจ๊ก”
น้ำท่วม 37 จังหวัด
ศึกใหญ่อีกเรื่องคือเหตุการณ์ “น้ำท่วม” โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-18 ต.ค. 2566 ว่า เกิดน้ำท่วมใน 37 จังหวัด รวม 154 อำเภอ 586 ตำบล 2,978 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 62,180 ครัวเรือน
จน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ต้องสั่งการให้รัฐมนตรี ทุกคนติดตามปัญหาน้ำท่วมเป็นพิเศษ และ กำชับ ส.ส.ที่อยู่ในพื้นที่ลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนให้ทันท่วงที ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี กำชับเจ้าหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือด้วย พร้อมเตรียมออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
กราดยิงพารากอนดับ 3
เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นที่ “รัฐบาลเศรษฐา” เข้าบริหารประเทศ เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 มีเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร
โดยผู้ก่อเหตุเป็นเด็กชายวัยอายุ 14 ปี ใช้ปืนแบลงก์กันดัดแปลง กราดยิงภายในศูนย์การค้า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เสียชีวิตทันที 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวจีน, สาวชาวเมียนมา และหญิงไทย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 4 ราย
ตำรวจตั้งข้อหาผู้ก่อเหตุ 5 ข้อหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
ปัญหาแต่งตั้ง ผบ.ตร.
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 4 ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14
หลังจากในช่วงแรก ที่ประชุม ก.ตร. ได้เลื่อนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ยาวไปถึงเดือน ต.ค. โดยได้แต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 1 รักษาการ ผบ.ตร. ไปก่อน
แต่ต่อมา ที่ประชุม ก.ตร. ต้องการเดินหน้าเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ “ให้จบ" ก่อนให้แคนดิแดต ผบ.ตร.ออกไปนอกห้อง หลังจากนั้นจึงมีการลงมติ โดยผลออกมาว่า ก.ตร.มีมติเสียงข้างมากแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร.
ท่ามกลางข้อครหาการคัดเลือกไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้ยึดความอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อิสสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด
เงินดิจิทัลเจอต้านหนัก
ไปอีกเรื่องที่รัฐบาลเจอต่อต้านอย่างหนัก นั่นคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แก่คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ด้วยวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท อันเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566
เดิมรัฐบาลได้กำหนดไว้ว่า จะแจกเงินดิจิทัล 1 ก.พ. 2567 ต่อมามีข่าวเลื่อนไปเป็นภายในไตรมาสแรกของปี 2567
แต่นโยบายดังกล่าวกลับถูกต่อต้านอย่างหนัก จากทั้ง นักวิชาการ อดีตคนแบงก์ชาติ สมาชิกวุฒิสภา และ ภาคประชาชน เพราะต่างห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจไทย เกรงจะซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีการทุจริตมหาศาลเกิดขึ้น และผิดกฎหมายหลายฉบับ
มีการส่งคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล
มีการยื่นเรื่องต่อ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตั้งกรรมการศึกษาขณะที่ ป.ป.ช.ก็มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษา เหตุมีข้อน่าห่วงใยสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว
สงครามอิสราเอล-ฮามาส
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มฮามาส เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบ ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันอีกหลายคน ขณะที่อิสราเอลก็ได้ตอบโต้กลับอย่างหนักหน่วง
มีรายงาน ณ วันที่ 23 ต.ค. 66 มีจำนวนผู้เสียชีวิต ในฉนวนกาซา 4,651 ราย บาดเจ็บ 14,245 ราย ในเขตเวสต์แบงก์ มีผู้เสียชีวิต 92 ราย บาดเจ็บ 1,400 ราย ในอิสราเอล มีผู้เสียชีวิต 1,405 ราย บาดเจ็บ 5,431 ราย มีผู้สูญหายมากกว่า 1,000 คน สันนิษฐานว่าอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารที่ถูกถล่ม ประชาชน 1.4 ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในฉนวนกาซา และมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 544,000 คน
ผลกระทบของสงครามดังกล่าวต่อคนไทย ณ วันที่ 21 ต.ค. 2566 พบว่า คนไทยเสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 16 ราย ถูกจับไปเป็นตัวประกัน 19 ราย นำศพกลับไทยแล้ว 8 ราย มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้ว จำนวน 2,319 คน และมีผู้แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศไทยอีกกว่า 8,439 คน
สงครามดังกล่าวยังไม่มีท่าทีจะสงบลง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก และ ของไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งหมดคือ “มรสุม” ต่าง ๆ ที่ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้นำของไทย เผชิญในช่วงการเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา