รายงานพิเศษ : “ชลน่าน”คืนความเป็นธรรมเยียวยาแพทย์ชนบท

06 ต.ค. 2566 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2566 | 08:05 น.

นับตั้งแต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ปรากฏการณ์ความขัดแย้งของบุคลากรการแพทย์ ระหว่าง “หมอเมือง-หมอชนบท” ที่รุนแรงมาต่อเนื่อง 3-4 ปี เริ่มมีสัญญาณคลี่คลายลงมาอย่างเห็นได้ชัด : รายงานพิเศษ โดย...ต้นกล้า

2 ตุลาคม 2566 ผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท และ ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนประมาณ 20 คน นำโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ. สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท เข้าร่วมประชุมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เพื่อรับทราบนโยบาย 13 ประเด็น โดย นพ.ชลน่าน ได้เชิญ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวง และ รองปลัด 4 คน มี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ-นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช-นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน-นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์-นพ.ณรงค์ สายวงศ์ เข้าร่วมรับประทานอาหาร 

หลังการรับประทานอาหารร่วมกัน นพ.ชลน่าน ได้พูดคุยกับ นพ.สุภัทร เป็นการส่วนตัวที่ห้องทำงานชั้น 4 ประมาณ 15 นาที ก่อนจะมีการเบิร์ดเดย์เป่าเค็กวันเกิดของ น.ส.นวลสกุล บำรุงพงษ์ 1 ในคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นได้มีการแสดงความยินดี และได้ถ่ายภาพร่วมกัน 

นพ.ชลน่าน ยืนตรงกลาง มือข้างหนึ่งจับมือ นพ.สุภัทร อีกข้างหนึ่งจับมือ นพ.โอภาส เพื่อให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคี

                           รายงานพิเศษ : “ชลน่าน”คืนความเป็นธรรมเยียวยาแพทย์ชนบท

3 ตุลาคม  2566  ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบ แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงกระทรวงสาธรณสุข 11 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงจากผู้เกษียณราชการ ตามที่ นพ.ชลน่าน เสนอ ดังนี้

1.นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร จากอธิบดีกรมการแพทย์ มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค

2.พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จากอธิบดีกรมสุขภาพจิต มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์

3.นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ จากรองปลัดกระทรวง มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต

4.นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ จากรองปลัดกระทรวง มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

5.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จากรองปลัดกระทรวง มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

6.นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช จากรองปลัดกระทรวง มาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

7.พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล  จากผู้ตรวจราชการ มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอนามัย

ระนาบอธิบดี เหลือแค่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่มี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์  เป็น อธิบดี คนเดียวที่ยังอยู่ที่เดิม ไม่ได้มีการพิจารณา ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด

ในระนาบ ผู้ตรวจราชการ มาเป็น รองปลัดกระทรวง มีการแต่งตั้ง ดังนี้…

1.นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ขยับขึ้นจากผู้ตรวจราชการ มาดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง  

2.นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ขยับจากผู้ตรวจราชการ มาดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง  

3.นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ขยับจากผู้ตรวจราชการ มาดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง  

4.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ขยับจากนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข)มา ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง 
ในเชิงโครงสร้างการบริหารของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีระดับ 11 คนเดียวคือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับ 10 นั้น มี อธิบดี 8 กรม รองปลัดกระทรวง  4 คน และ ผู้ตรวจราชการกระทรวง 12 คน   

ธรรมเนียมการปฏิบัติในการแต่งตั้งขององค์กรนี้ เหมือนกับ “กระทรวงการคลัง” คือ จะมีการขยับผู้ตรวจราชการ ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวง ขยับ รองปลัด ออกไปเป็น อธิบดี เพื่อป้องกันปัญหาการเมืองภายใน “รองอธิบดี” เลื่อยขาเก้าอี้อธิบดี

นพ.ชลน่าน บอกว่า ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ ส่วนในนโยบายของแต่ละกรม จะต้องเข้าไปเน้นย้ำในแต่ละกรมที่รับผิดชอบต่อไป

ผลการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงสาธารณะสุขรอบนี้ ถือว่า “นพ.ชลน่าน” ได้ดำเนินการ “เยียวยาและคืนความเป็นธรรม” ให้กับ “กลุ่มแพทย์ชนบท” ได้ระดับหนึ่ง

สังเกตได้จากการการแต่งตั้ง “นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ” ศิษย์เก่ารามาธิบดี รุ่นที่ 19 อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท คนที่ 17 ที่ถือเป็น 1 ในแกนนำเป็น “พี่ใหญ่หมอชนบท” ที่สามารถก้าวขึ้นมายืนหนึ่งในฝ่ายบริหาร จากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง มาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เป็นการปรับชั้นขึ้น “กรมใหญ่กว่าเดิม” หลังจากก่อนหน้านี้ถูกปรับย้ายจากตำแหน่งอธิบดีเข้ากรุเป็นรองปลัดกระทรวงมา 1 ปี

โดยในช่วง 30 สิงหาคม 2565 สมัยรัฐบาลที่แล้ว “หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ได้มีคำสั่งโยก “นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง จนอื้ออึงกันในกระทรวง-ศูนย์สุขภาพ 12 เขต-โรงพยาบาลระนาบอำเภอว่า ขาดความไร้ธรรมาภิบาล เป็นยุคที่เส้นสายและพรรคพวก อยู่เหนือความรู้ความาสามารถและความเหมาะสม

ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดในเชิงการบริหารและนโยบายอย่างหนัก ระหว่าง “หมอเมือง-หมอชนบท” ถึงขนาดมีการออกแถลงการณ์ตอบโต้ และมีการโยกย้าย ผอ.โรงพยาบาล และแกนนำกลุ่มหมอชนบทหลายคน

แม้ นายอนุทิน จะออกมาชี้แจงว่า “รองปลัดที่ตั้งไปให้คุม 3 กรม จะไปลงโทษอย่างไร ทุกอย่างเป็นธรรม และมีความเหมาะสมทุกอย่าง ไม่ได้เป็นการลงโทษ เกิดมาเคยลงโทษใครที่ไหน พี่มีแต่ให้...”

ห้วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งทางความคิดของการทำงานระหว่างฝ่ายการเมือง ที่ใช้ “กลุ่มหมอเมือง” เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบาย กับ “กลุ่มแพทย์ชนบท” ที่ปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลศูนย์

ผลที่ตามมา “กลุ่มหมอชนบทถูกล้างบาง” แบบนับหัวไม่หมด หลายคนจมปุ้กอยู่แค่โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ ทั้งที่แต่ท่านมีความรู้ความสามารถ และ บริหารโรงพยาบาลที่สัมผัสกับชาวบ้าน 

เส้นทางของประธานชมรมแพทย์ชนบทแทบทุกคน มักไม่โต ไล่จาก นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท คนที่ 18, นพ.วชิระ บถวิบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนที่ 19, นพ.อารักษ์ วงษ์วรชาติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนที่ 20, นพ.พงษ์เทพ วงษ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนที่ 21, นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ยัน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ฯลฯ

เฉพาะเรื่องการจัดซื้อ ATK ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเองนั้น ส่งผลให้ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล กับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 แกนนำของชมรมแพทย์ชนบท ถูกองค์การเภสัชกรรม ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ในข้อกล่าวหาว่า เข้าไปแทรกแซง ก้าวก่าย ล็อกสเปคการจัดซื้อ ATK 

กระทั่ง วันที่ 22 ก.ย. 2563 มีคำสั่งจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งเด้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น

                    รายงานพิเศษ : “ชลน่าน”คืนความเป็นธรรมเยียวยาแพทย์ชนบท

ฟางเส้นสุดท้ายของ “สายสัมพันธ์หมอการเมือง-หมอชนบท” ขาดผึงลง ในวันที่ 1 กันยายน 2565 เมื่อ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ออกมาท้ารบฟ้องหมอชนบท ว่า ชมรมแพทย์ชนบทไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณะสุข แต่มักอ้างเป็นตัวแทนของแพทย์ โดยที่แพทย์ไม่ยอมรับ เพราะเป็นชมรมที่มีมุ่งหมายทางการเมือง ไม่ใช่การพัฒนาวิชาการทางการแพทย์ มีผู้นำของชมรมที่มีพฤติการณ์ทุจริตในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 

วันที่ 25 มกราคม 2566 นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวง ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 125/2566 ให้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน ที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา  

เป็นการย้ายหลังจาก นพ.สุภัทร ไปวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมจากการวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้ง และวิพากษ์วิจารณ์ การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 รวมถึงการซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย 

ยังไม่พอ ระเบิดลงกลุ่มหมอชนบทอีกรอบ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ได้มีคำสั่ง กระทรวงสาธารณสุข ที่ /2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง นพ.สุภัทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สะบ้าย้อย (ขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ) กรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากการจัดซื้อและได้สั่งอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชุดตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ครั้งละไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 5 ครั้ง  ถือเป็นการแบ่งซื้อชุดตรวจ ATK ที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

จึงถือเป็นการปฏิบัติราชการ เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้สำหรับบริษัทผู้ขาย หรือ ผู้อื่น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ อย่างร้ายแรง เพราะสั่งซื้อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการ

นอกจากนี้ ยังมีความผิด กรณีการก่อสร้างอาคารบริการ 8 ชั้น ตามสัญญาเลขที่ 160/2562 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 วงเงิน 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าจะนะ กำหนดแล้วเสร็จ 900 วัน กำหนดงวดงาน 23 งวดงาน ซึ่ง นพ.สุภัทร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารบริการ 8 ชั้น ในส่วนงานก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคาร 6 ชั้น กับอาคารผู้ป่วยใน และ งานลดระดับความสูงขั้นที่ 2-5 ชั้นละ 50 เซนติเมตร เป็นการปฏิบัติราชการเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ สำหรับบริษัทผู้รับจ้าง หรือผู้อื่น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง 

ยังมีความผิดอีกข้อ จากกรณีเสนอให้ดำเนินการจัดซื้อลิฟต์โดยสารพร้อมติดตั้ง ในขณะที่การก่อสร้างอาคาร 8 ชั้น อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือยังไม่แล้วเสร็จ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หมวด 6 อันเป็นกรณี มีพยานหลักฐานเบื้องต้นในเรื่องกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

เรียกว่า ฟาดฟันกันมันหยด ทุกดอกหนักหน่วง...

แต่ยุคของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา จังหวัดน่าน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ยาวนานถึง 5 ปี เริ่มมีการ “ประสานมือ” กันอย่างเห็นได้ชัด