27 ตุลาคม 66 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 โดยได้กำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัย โดยความผิดทางพินัยไม่ถือเป็นโทษทางปกครองหรือทางอาญา โดยมีวิธีการขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน การแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน
หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีคำสั่งปรับเป็นพินัยให้ผู้ถูกกล่าวหาชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และไม่ให้บันทึกการกระทำความผิดทางพินัยไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรมฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 ตุลาคม 66 เป็นต้นไปนั้น
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากฎหมายและกำหนดแนวทางรองรับในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งได้มีคำสั่ง ตร.ที่ 591/2566 ลงวันที่ 24 ต.ค.66 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 โดยในส่วนของ ตร.มีกฎหมายที่รับผิดชอบโดยตรง 3 ฉบับ ได้แก่
ส่วนกฎหมายอื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะเกี่ยวข้องโดยขณะนี้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกระทรวงต่าง ๆ ได้ออกประกาศกำหนดให้ ตร.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน 4 ฉบับแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497, พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.เพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางน้ำ พ.ศ. 2496, พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509
ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้กำหนดแนวทาง ดังนี้
1.กรณีเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่า ความผิดทางพินัยแล้วนั้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน แจ้งข้อกล่าวหาและต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหานั้น หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลา
เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการออกคำสั่งปรับเป็นพินัยแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหา และหากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชำระค่าปรับ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนส่งอัยการฟ้องต่อศาล
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้และในการกำหนดค่าปรับทางพินัย ให้คำนึงถึงความเหมาะสม ความร้ายแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมและสถานภาพทางเศรษฐกิจ ความรู้ผิดชอบ อายุ หรือสิ่งอื่นทั้งปวงของผู้กระทำผิดด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ตำรวจ พบการกระทำความผิดทางพินัยตามกฎหมายอื่น ๆ ให้มีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกฎหมายนั้น ๆ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เว้นแต่เป็นความผิดทางพินัยที่ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยต่อไป
2.แนวทางการออกใบสั่งจราจรและการดำเนินคดีปรับเป็นพินัย สำหรับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มีสาระสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 คือ เจ้าพนักงานจราจร ที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป
นอกจากนี้ยังได้มีประกาศกำหนดให้ ตร. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 เพิ่มเติมอีกด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถออกใบสั่งตามมาตรา 140 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้ทั้ง 3 รูปแบบ (ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ/ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์/ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์) โดยแนบคำแจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ไปพร้อมใบสั่ง (สิทธิการขอผ่อนชำระ/สิทธิขอชำระค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือบริการสาธารณะ)
ช่องทางการชำระค่าปรับจราจร สามารถชำระได้ 3 ช่องทางตามเดิม (ทางอิเล็กทรอนิกส์/ไปรษณีย์/ที่สถานีตำรวจ) ในกรณีที่พ้นระยะเวลาชำระค่าปรับตามหนังสือแจ้งการไม่ชำระค่าปรับ (หนังสือเตือน) หรือกรณีผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนส่งอัยการฟ้องต่อศาลต่อไป
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตร.มีความพร้อมในการปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เป็นความผิดทางพินัย โดยความผิดทางพินัยไม่ถือเป็นโทษทางปกครองหรือทางอาญา ผู้ถูกกล่าวหา สามารถผ่อนชำระหรือขอชำระค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือขอทำงานบริการสาธารณะได้ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมต่อไป