แจกเงินดิจิทัล เปิดเหตุผลตัดสิทธิคนรวย “เศรษฐา” ส่งกำลังใจลุยต่อ

26 ต.ค. 2566 | 08:59 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2566 | 09:20 น.

รมช.คลังเผยเหตุผลปรับเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท หลังธปท.-สภาพัฒน์แนะดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มองเศรษฐกิจฟื้น ระบุนายกฯ ไม่ติดใจ พร้อมตบบ่าให้กำลังใจลุยต่อ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สาเหตุที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต กำหนด 3 กลุ่มแนวทางในการจ่ายเงินนั้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการยื่นข้อเสนอให้ดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจและการบริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังมีความเห็นต่าง เนื่องจากมองว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อน และการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ยังมีความสำคัญ หากใช้เม็ดเงินงบประมาณลงไปเพียง 1.5 แสนล้านบาท ยังอาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเกณฑ์คนรวยนั้น กรณีกำหนดเกณฑ์ตัดสิทธิผู้ที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 100,000 บาทนั้น และกลุ่มผู้มีรายได้เดือนละ 50,000 บาท  หรือมีเงินฝากในบัญชี 500,000 บาทนั้น ส่วนนี้เป็นตัวเลขที่มีอยู่ในภาครัฐที่พอจะชี้จัดได้ 

“จากการปรับเกณฑ์จ่ายเงินดิจิทัล เราก็รอฟังเสียงนักวิชาการ และประชาชน ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งวานนี้ก็มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการรายงานผลการประชุมให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังรับทราบ ท่านก็ไม่ติดใจเรื่องการกำหนดเป้าหมายตัดสิทธิคนรวย ท่านยังตบบ่า และให้กำลังใจว่าขอให้เดินหน้าต่อ เพราะเรื่องการเมืองก็เป็นเช่นนี้”

ทั้งนี้ เรามีการพูดเสมอว่าหากมีความจำเป็นต้องตัดกลุ่มคนรวยออก แต่เราจะหาตัวเลขที่มีวิธีการรองรับมากที่สุด ซึ่งหากจะไปดูทรัพย์สินอย่างอื่นในการแบ่งเกณฑ์ความรวย เช่น ที่ดิน ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ หรือหากเป็นทรัพย์สินอื่นๆ เช่น หุ้น ส่วนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ฉะนั้น จึงเลือกใช้เกณฑ์รายได้ที่มาจากการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร และเงินฝากในบัญชี ซึ่งยังมีกลไกในการตรวจสอบได้ 

“การดูเกณฑ์รายได้ จะต้องมีเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งจะต้องไปหารือรายละเอียดเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสม โดยจะไม่มีการนับรวมสินทรัพย์อื่นๆ เช่น สลากออมทรัพย์ พันธบัตร เป็นต้น ยืนยันว่าโครงการจ่ายเงินดิจิทัลจะเกิดขึ้นแน่นอน 100% ซึ่งถ้าผมเลือก ก็ต้องดูแลทั้ง 49 ล้านคน แต่สุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งอาจจะไม่เลือกทั้ง 3 แนวทางดังกล่าวนี้เลยก็ได้” 

ขณะที่กรณีการใช้แหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งวางเป้าหมายใช้งบประมาณเป็นหลัก ผ่านการตั้งงบผูกพักนั้น ได้มีการหารือร่วมกำสำนักงบประมาณถึงข้อกฎหมายพ.ร.บ.งบประมาณนั้นไม่มีปัญหา ซึ่งสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งในการดำเนินการจะต้องดูให้ละเอียด