ศาลรธน.ตีตกคำร้อง "สราวุธ" อ้างถูก ก.ต.ละเมิดสิทธิปมสอบวินัย

01 พ.ย. 2566 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 11:38 น.

มติศาลรธน.เอกฉันท์ตีตกคำร้อง "สราวุธ" อดีตเลขาศาลยุติธรรม อ้างถูก ก.ต.ละเมิดสิทธิ ใช้อำนาจสอบวินัย ชี้รธน.เปิดช่องให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมได้อยู่แล้ว

วันนี้ (1 พ.ย.66) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาฯศาลยุติธรรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรณีตนเองถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง เกี่ยวกับการกระทำในขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

โดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม 2543 มาตรา 22 (1) ที่ให้ก.ต.มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการ ทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือ เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้

และการละเมิดนั้น เป็นผลจากบทบัญญัติ มาตรา 22(1) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 193 และมาตรา 196 นั้น

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 9 4 บัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

แม้การกระทำของ ก.ต. ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง นายสราวุธ ผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 194

และมีสิทธิยื่นขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 และมาตรา 231 (1) ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47(2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม  บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้