“ศรีสุวรรณ”ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลรธน.วินิจฉัยแจกเงินดิจิทัลขัดรธน.-กฎหมาย

13 พ.ย. 2566 | 04:36 น.
อัพเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2566 | 04:52 น.

“ศรีสุวรรณ”ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรธน.วินิจฉัยโครงการแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ขัดรธน. ม.140-ก.ม.การเงินการคลัง จ่อร้อง กกต.-ป.ป.ช. เอาผิดจริยธรรม

วันนี้ ( 13 พ.ย. 66) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัด หรือ แย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่ 

นายศรีสุวรรณ ชี้ว่า การใช้ช่องทางการกู้เงินมาแจก เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า การจะกู้เงินจะทำได้เฉพาะที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินงบประมาณ หรือที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เว้นแต่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วน 

แต่ก็ต้องไปดู พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยมาตรา 53 เขียนชัดว่า การจะกู้เงินนั้น นอกจากต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จะมีเงื่อนไขว่า ต้องมีเหตุเร่งด่วน และต้องใช้ความต่อเนื่องในการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน แต่ ณ วันนี้สถานการณ์ของประเทศไม่มีเหตุอะไรจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้เงินเลย 

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า นายกฯ แถลงมาโดยตลอดว่า จะใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ครั้งนี้ครั้งเดียวแล้วจบเลย จึงไม่ใช่เรื่องของความต่อเนื่อง ที่จะต่อเนื่องมีแค่คนไทย 70 ล้านคน ต้องมาใช้หนี้เงินกู้ในภายหลัง 

ส่วนถ้าจะอ้างว่าประเทศมีวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เป็นทั้งโลก และถ้าอ้างข้อนี้ทำไมต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ไม่ออกเป็นพระราชกำหนดไปเลย  ขณะที่การตั้งงบประมาณไม่ทันนั้น ยิ่งไม่เข้า เพราะพ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ยังอยู่ในวาระการพิจารณาตั้งงบฯ ของหน่วยงานราชการ ยังไม่มีการเสนอต่อสภา

ถ้าจะใช้ช่องทางนี้รัฐบาลสามารถบรรจุโครงการเข้าไปในงบฯ 2567 ได้เลย แต่ที่ไม่ทำ เพราะจะทำให้พ.ร.บ.งบประมาณขาดทุนอย่างบักโกรก ขาดดุลมหาศาล จึงมาช้วิธีการออกพ.ร.บ.กู้เงินแทน 

“พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 9 กำหนดไว้ชัดว่า การดำเนินโครงการจะต้องไม่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมือง แต่การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นายกฯ มาแถลงว่าจะทำโครงการนี้แล้ว จะไปหารือกับกฤษฎีกา ทำไมไม่หารือให้มีความชัดเจนก่อนว่า ทำได้หรือไม่ แล้วค่อยมาแถลงเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ เป็นการหวังสร้างความนิยมทางการเมือง  ไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด” 

ทั้งนี้ การยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ประชาชนทำเองไม่ได้ ทางองค์กรจึงมายื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

และในวันพุธที่ 15 พ.ย.นี้ ตนจะไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะตอนพรรคเพื่อไทยยื่นนโยบายที่จะใช้หาเสียงต่อกกต. ระบุจะไม่ใช้เงินกู้ จะใช้เกลี่ยจากกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ และ ใช้เงินสำรองที่มีอยู่กว่าแสนล้านบาท แต่สุดท้ายกลับมาออกพ.ร.บ.เงินกู้ จึงเห็นว่าอาจจะขัดกับมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 

อีกทั้งการที่ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่กู้ แล้วมากู้ สะท้อนว่า ผู้นำประเทศ กำลังสร้างผลประโยชน์เพื่อส่วนตัว เข้าข่ายขัดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งจะไปยื่น ป.ป.ช. ในวันศุกร์ 17 พ.ย.นี้ 

ด้านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ขณะนี้มีคำร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ผู้ตรวจฯ 5 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ตรวจฯ เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ก็ต้องเร่งรัดการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า จะใช้เวลานานเท่าไหร่