สว.คำนูณเปิด 4 ข้อออกพ.ร.บ.กู้เงินแจกเงินดิจิทัล 10000 ผิดกม.หรือไม่

12 พ.ย. 2566 | 01:41 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2566 | 01:41 น.

สว.คำนูณเปิด 4 ข้อออกพ.ร.บ.กู้เงินแจกเงินดิจิทัล 10000 ผิดกม.หรือไม่ ชี้ไม่น่าชอบด้วยมาตรา 53 ทั้งหมด ระบุจากนี้ไปต้องรอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kamnoon Sidhisamarn" ระบุว่า กู้มาแจกขัดกม.หรือไม่ การตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกคนละหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ตนเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 หากพระราชบัญญัตินั้นเป็นไปตามเงื่อนไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ประเด็น คือ การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น

เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณ รายจ่ายประจำปีได้ทัน ขอแตกออก เป็น 4 ประการ เร่งด่วน ต่อเนื่อง แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน ต้องบอกด้วยความเคารพว่าแทบจะไม่เข้าสักประการ

  • ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที การตราเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่าน 2 สภา สภาละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญอีก 
  • โครงการนี้ไม่ได้ต้อง การใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาทแจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน 
  • วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤต อย่างน้อยหากเปรียบเทียบกับยุคโควิด-19 
  • ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย โดยเงื่อนเวลาสามารถปรับยอดการใช้จ่ายโครงการนี้เข้าไปได้ ซึ่งก็จะตรงกับที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับกกต. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 

ทั้ง 4 ประการนี้มีเพียงประการที่ 3 ว่าด้วย วิกฤต เท่านั้นที่พอเถียงกันได้ โดยรัฐบาลอาจมองได้ว่าการที่ GDP ของประเทศโตในระดับต่ำ ถือเป็นวิกฤตที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน

หากถามว่าใน 4 ประการนี้ มีประการไหนสำคัญสุดหรือไม่ น่าจะเป็นประการที่ 4 เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้มีขึ้น เพื่อป้องกันการออกกฎหมายพิเศษกู้เงิน และใช้เงินกู้นั้น ไปนอกงบประมาณแผ่นดินทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข จึงเพิ่มเงื่อนไขไว้ 4 ประการด้วยกัน 

 

โดยประการสุดท้าย ที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้กำหนดว่าต้องอยู่ในช่วงเวลา ที่ไม่อาจตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีได้ทัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้จ่าย เงินแผ่นดินอยู่ภายใต้กรอบของพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ยังคาอยู่ ปรับ แก้ได้ทัน จะมาออก พ.ร.บ.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ดูอย่างเอาใจช่วยอย่างไร ก็ไม่น่าชอบด้วย มาตรา 53 ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น โดยสุจริตของคนคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติมาหลายปี ผ่านการถกเถียงประเด็นการออกกฎหมายพิเศษ เพื่อกู้เงินนอกงบประมาณมาพอสมควร ทั้งในช่วงปี 2552 และ 2554 -2556 

และเคยเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐเมื่อปี 2560 ในฐานะ ผู้แทนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย โดยเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นในมาตรา 53 ไว้ ถูกผิดประการใดโปรดพิจารณา จากนี้ ไปก็รอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา