วันนี้ (15 พ.ย. 66) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสามที่บัญญัติว่า “ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย รายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้อง มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น”
และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ไม่ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง
ทั้งนี้คดีดังกล่าวศาลจังหวัดชลบุรีได้ส่งคำโต้แย้งของ นายวีระศักดิ์ ไชยสุขเจริญกุล ที่ 1 นายนรพัทธ์ ตียพันธ์ ที่ 2 และ นายเอกชัย รุ่งนิศากร ที่ 3 จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 772/2565 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212
ซึ่งก่อนมีมติศาลฯ ได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และเห็นว่าคำโต้แย้งของจำเลยทั้งสาม และเอกสารประกอบ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามแสดงเหตุผลประกอบคำโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสองถึงวรรคห้าอย่างไร จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้
และเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง