หลังจากที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง การไต่สวนพยานซึ่งอยู่นอกที่ทำการศาลด้วยระบบการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวให้ศาลสามารถไต่สวนพยานนอกที่ทำการศาลด้วยระบบการประชุมทางจอภาพได้นั้น
น่าสนใจว่า ประกาศฉบับดังกล่าวออกมาในห้วงเวลาศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดพิจารณาคดีร้อนทางการเมืองรวม 3 คดี
คดีแรก กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือถือหุ้นสื่อ ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยมีรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ย.) ศาลจะกำหนดนัดจำนวนพยานและวันออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาคดีพิธา ถือหุ้นสื่อ
รวมถึงกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพุทธะอิสระ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และดำเนินกระบวนพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานมาต่อเนื่องเช่นกัน
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดพิจารณาคดีที่สั่งให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยุติการทำหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยกรณีที่ นายศักดิ์สยาม ถือครองหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 29 พ.ย. 2566 นี้อีกด้วย
ถือได้ว่า ประกาศฉบับนี้ออกมาในห้วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะเพื่อสกัดกั้นกลุ่มก้อนทางการเมืองและบรรดาเหล่ากองเชียร์ที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้