15 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวจากรัฐสภาเปิดเผยว่าว่า ได้มีบัตรสนเท่ห์ คัดค้าน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น) ผู้สมัครตามคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ปช.) พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคสอง (2) เข้ารับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา (พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี) โดยอ้างว่า พล.ต.ท.ธิติ ขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.2561 มาตรา 9 วรรคสอง (2) ซึ่งระบุว่า ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เที่ยบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
บัตรสนเท่ห์อ้างถึง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ในบัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี หน่วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับอนุมัติจาก ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ระบุไว้ในลำดับที่ 47 ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีนั้น
“ออกมาเพื่อใช้ในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น เพื่อให้ผู้มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี ได้ใช้สิทธิ์ในการเบิกจ่าย เช่นเบิกเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่า ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ซึ่งเป็นสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลังทั้งนั้น จะใช้ระเบียบนี้มาเป็นคุณสมบัติ เพื่อสมัครกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของคุณสมบัติ ของผู้สมัครกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่ระบุไว้ใน พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2561”
บัตรสนเท่ห์ระบุว่า แม้กฎหมายจะระบุว่า ความเห็นของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุดในเรื่องคุณสมบัติ แต่ก็ผูกพันเฉพาะ คณะกรรมการสรรหาเท่านั้น หาผูกพันหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบอื่นด้วยไม่ จึงขอเสนอให้มีการส่งเรื่องคุณสมบัติดังกล่าวของ พล.ต.ท.ธิติ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาด เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
บัตรสนเท่ห์ยังระบุ เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่มี นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานที่พยาม ผลักดันให้พล.ต.ท.ธิติ เพื่อผ่านการคัดสรรเข้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย
สำหรับพล.ต.ท.ธิติ หรือ “บิ๊กจ้าว” เป็น นรต.รุ่นที่ 40 เริ่มต้นเส้นทางรับราชการ สารวัตรกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผกก.ปอศ. รอง ผบก.ปคม. รอง ผบก.ปคบ. ผบก.กต.3 จต. ผบก.ปคม. ผบก.ภ.จว.สระบุรี ผบก.ภ.จว.สงขลา รอง ผบช.ภ.1 รอง ผบช.ส. รอง ผบช.น. ผบช.ประจำ ตร. รักษาการ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี และ ผบช.ภูธร ภาค 2 ก่อนเป็นขึ้นเป็น ผบช.น.คนปัจจุบัน เคยเป็นชุดคลี่คลายคดีสำคัญ ๆ เช่น การทลายบ่อนการพนันในภาคตะวันออก
คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แทนนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ประกอบด้วย
1. ประธานศาลฎีกา (นางอโนชา ชีวิตโสภณ) ประธานกรรมการ
2. ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) กรรมการ
3. ประธานศาลปกครองสูงสุด (ศาสตราจารย์พิเศษวรพจน์ วิศรุตพิชญ์) กรรมการ
4. บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง (นางสาวพศุตม์ณิชา จำปาเทศ) กรรมการ
5. บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง (นายชัยเลิศ หลิมสมบูรณ์) กรรมการ
6. บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง (พลตำรวจเอก ศักดา ชื่นภักดี) กรรมการ
7. บุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง (นายวิทูรัช ศรีนาม) กรรมการ
8. บุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง (นายบุญสม อัครธรรมกุล) กรรมการ
หมายเหตุ : กรรมการสรรหาในส่วนของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบันยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ส่วนรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายณัฐจักร จำวน 16 คน ประกอบด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่มี นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานจะพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติ และพฤติการณ์ทั่วไป ก่อนประกาศรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิเข้าแสดงความคิดเห็นและรับการสัมภาษณ์ หลังจากนั้นจะส่งต่อให้วุฒิสภา (สว.) เห็นชอบต่อไป