กมธ.ต่างประเทศ ขอรัฐบาลเร่งเจรจา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

15 ธ.ค. 2566 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2566 | 12:19 น.

คณะกรรมาธิการต่างประเทศ ขอรัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ชี้มีงานต้องทำอีกมาก หากช้าฝ่ายไทยจะเสียเปรียบในการเจรจา

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะ กมธ การต่างประเทศ ได้จัดการประชุมวาระพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเจรจาปักปันเขตแดนได้ โดยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงานและกองทัพเรือ ได้ให้ข้อมูลปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา 

ตามกรอบเอ็มโอยูปี 2544 ทั้งสองประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในอ่าวไทย ในพื้นที่ 2 ส่วนไปพร้อมกัน โดยมิอาจแบ่งแยกได้  กล่าวคือ 1) พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลตามกฎหมายระหว่างประเทศ และ 2) พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือให้เจรจาพัฒนาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การเจรจายังไม่ประสบความสําเร็จเนื่องจากปัจจัยด้านสัดส่วนผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว และยังมีประเด็นด้านสิทธิ์ด้านเขตแดน
 

นายนพดลกล่าวว่า ปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสอันดี เนื่องจากทั้งสองประเทศเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยดีเชื่อว่ารัฐบาลทั้งสองจะเดินหน้าในการร่วมกันแสวงหาทางออกของปัญหาในระดับนโยบาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถเร่งประสานงานและบรรลุข้อตกลงร่วมกันโดยเร็ว 

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามเจรจาตกลงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนหลายครั้ง แต่ยังคงล่าช้าจึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของผู้นำในการเร่งการเจรจา เพื่อพลิกวิกฤตจากการที่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันให้กับเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน อีกทั้งจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ทั้ง 2 ประเทศอีกด้วย
 
 

“คณะ กมธ ต่างประเทศเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินการเจรจาเรื่องเขตแดนและการพัฒนาร่วมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการ ด้านเทคนิคหรือเจทีซีเพื่อหารือเจรจาใหม่อีกครั้ง ซึ่งคณะกมธ.จะติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

ขอสนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆให้ดำเนินการเร่งเจรจากับกัมพูชา โดยไม่ให้เสียดินแดนและใช้หลักการบริหารจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไม่ทำให้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจา”