วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ได้แสดงความคิดเห็นและการสัมภาษณ์ โดยเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่มีนางอโนชา ชีวิตโสภณ เป็นประธาน บางช่วงสำคัญ
พล.ต.ท.ธิติ เริ่มต้นแสดงวิสัยทัศน์ ว่า ขออนุญาตกล่าวถึงที่มาของการสมัคร ป.ป.ช.ในครั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ และสามารถจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่จุดที่อยู่ในการยอมรับของนานาประเทศได้
“ส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชันเป็นปัญหาในเรื่องนี้มีปัจจัยมาจากกฎหมายที่มีช่องว่าง มีกฎระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเปิดช่องให้เป็นการใช้ดุลพินิจ ทำให้ข้าราชการบางส่วนหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายบางท่านทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมาย หรือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงมีคำถามในใจว่า ประเทศไทยสามารถจะวางเป้าหมายในระยะยาวให้ค่า CPI สูงกว่า 50 ให้ไทยอยู่ในสถิติของประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยเพื่อส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้ได้หรือไม่”
พล.ต.ท.ธิติกล่าวว่า มุมมองส่วนหนึ่งที่ผมเห็นหรือเป็นวิสัยทัศน์ คือ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีส่วนในการที่จะขับเคลื่อนทำให้ประเทศไทยไปอยู่เหนือ ranking ที่ 50 ได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
เริ่มต้นจากการดำเนินคดีอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด การปราบปรามอย่างจริงจังเป็นดัชนีชี้วัดที่สามารถจะวัดผลได้ ซึ่งประเทศไทยเองได้คะแนนในตัวนี้ต่ำมาตลอดจากค่า CPI และจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวได้
แต่กลุ่มผู้กระทำความผิดมีวิวัฒนาการรในการกระทำความผิด มีการวางแผนก่อนลงมือกระทำ มีการลบร่องรอยทำลายพยานหลักฐาน ซึ่งยากแก่การตรวจสอบและติดตาม พยานหลักฐานที่ปรากฏจะดำเนินคดีได้เฉพาะระดับล่าง ไม่สามารถจะดำเนินคดีกับกลุ่มทุนหรือผู้รับผลประโยชน์ระดับสูง
อีกทั้งมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ มีกฎระเบียบที่แตกต่างกันในการดำเนินการ ในส่วนของข้าราชการประจำจะมีระเบียบอย่างหนึ่ง ในส่วนของข้าราชการท้องถิ่นจะมีระเบียบอย่างหนึ่ง
ส่งผลให้กระบวนการในการที่จะลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดหรือทุจริตล่าช้า พยานหลักฐานต่าง ๆ จะสูญหายจากความล่าช้า มีการลบร่องรอย มีการถ่ายโอนทรัพย์สิน
ที่สำคัญการดำเนินคดีกับกลุ่มผลประโยชน์ในระดับกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะมีผู้สมคบ ผู้สนับสนุน และผู้ได้รับประโยชน์ซึ่งมีอิทธิพล ทั้งทางการเงินและการเมืองอยู่เบื้องหลัง
เป็นเรื่องยาก มีข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการหรือท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีกฎหมายที่จะรองรับการทำงานที่ชัดเจน
“การเรียกบุคคลและเอกสารต่าง ๆ เข้ามาในระบบการตรวจสอบทำได้ยาก ไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มี คือ อำนาจเฉพาะในการดำเนินการ”
ที่กล่าวมานี้เป็นมิติในการปราบปรามของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตสูงกว่า 50 ในมิติการปราบปราม
ยังมีมติด้านการป้องกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ต้องพัฒนาบุคคลให้เข้มแข็ง รู้เท่าทันต่อรูปแบบการกระทำความผิด รู้ถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย กลุ่มทุนและผลประโยชน์
การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็น ต้องสร้างความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบ โดยเฉพาะเส้นทางการเงิน เส้นทางการติดต่อสื่อสาร ตรวจสอบรูปแบบต่าง ๆ สร้างแพลตฟอร์มรูปแบบการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ขึ้นมาเอง
มิติหนึ่งที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบอีกด้านหนึ่ง คือ การตรวจสอบทรัพย์สิน หรือความร่ำรวยกว่าปกติ และที่จำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน การฟอกเงินทั้งในตลาดทุน ในสกุลเงินดิจิทัล
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นมิติบทบาทและหน้าที่สำคัญของ ป.ป.ช.ทั้ง 3 ด้านที่จะทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ในตาราง
“ประเด็นสุดท้าย ผู้ที่ทำหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องมีจริยธรรม และที่สำคัญที่สุด ต้องมีความกล้าหาญที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดภายใต้พยานหลักฐานและกฎหมาย”
รายงานข่าวว่า ในช่วงถามตอบ น.ส.พศุตม์ณิชา จำปาเทศ บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง 1 ในกรรมการสรรหา ถามว่า อยากทราบว่าคดีใดที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญมากที่สุด เพราะเหตุใด
พล.ต.ท.ธิติ ตอบว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คดีที่ดำเนินกับกลุ่มทุนต่างชาติ เช่น คดีกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด คดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เขาจ้างคนไทยเปิดบริษัท จ้างให้คนไทยจดทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยใช้เงินทุนของตัวเอง แล้วถ่ายโอนเม็ดเงินเข้าระบบ
“เราตรวจสอบพบเส้นทางการเงินเข้ามาแล้วพบว่า คนจีนจะใช้วิธีการหรือกลุ่มทุนชาวต่างชาติใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้ถือหุ้นในบริษัท เพื่อให้ตัวเองเข้ามาถือหุ้น โดยที่ตัวเองไม่จำเป็นจะต้องไปจดทะเบียนใด ๆ และไม่มีการเสียภาษีใด ๆ “
แต่เงินที่ได้มาจากต่าง ๆ นั้น เป็นการถ่ายโอนเงินจากการกระทำความผิดจากต่างประเทศเข้ามาในระบบ แล้วก็นำไปสู่กระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำให้เงินนั้นเข้ามาเป็นกระบวนการที่ถูกต้องในระบบประเทศไทย เสร็จแล้วเงินตอนนี้จะถูกส่งออกกลับไปอีกครั้งหนึ่ง
คดีที่ดำเนินกับข้าราชการ เช่น คดีที่ข้าราชการตำรวจนำประชาชนที่เป็นหญิงไปกักขังเรียกค่าไถ่ นำประชาชนที่เป็นชายไปขังไว้แล้วยัดความผิดตั้งข้อหาให้
ขณะที่นายบุญสม อัครธรรมกุล บุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง 1 ในคณะกรรมการสรรหาฯ ถามว่า พล.ต.ท.ธิติยังมีเวลาในราชการอีก 2 ปี เหตุใดจึงตัดสินใจมาสมัคร กรรมการป.ป.ช.ในครั้งนี้ ถ้าใช้เวลาอีก 2 ปี ในตำแหน่งหน้าที่ที่มีอยู่ จะทำประโยชน์ได้มากกกว่าหรือไม่
พล.ต.ท.ธิติตอบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถ้ามีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนจะสามารถลดปัญหาทุจริตของประเทศได้ จะเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจในการลงทุน ซึ่งสามารถจะพัฒนาประเทศได้
“สิ่งหนึ่งซึ่งผมสามารถเข้าไปสนับสนุนการทำงานได้ คือ ประสบการณ์ในการตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงิน การสื่อสาร การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน เรื่องเหล่านี้ซึ่งทำมาตลอดการทำงาน”