สัมพันธ์พิเศษทักษิณ-ฮุนเซน เปิดดีลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

12 ม.ค. 2567 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 05:34 น.

7 กุมภาฯ 67 "เศรษฐา" นัดหมายกับ "ฮุน มาเนต" ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เป็นการพบกันอีกครั้งหลังพบกันอย่างไม่เป็นทางการที่ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยมีวาระเปิดดีลเจรจาผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

“เศรษฐา” ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยที่ติดตามภารกิจนายกรัฐมนตรีในการพูดคุย "นอกรอบ" กับ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาทายาททางการเมืองรุ่น 2 แห่งตระกูลฮุน บ่งบอกถึงคอนเนคชั่นเก่าก่อน

"เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ผมกับท่านฮุน มาเนตก็พูดคุยกันด้วยดี ท่านก็เป็นนักเรียนเก่าอเมริกา เราก็มีสถานที่เก่า ๆ ที่เราเคยรู้จักมา แล้วมาพูดคุยกันได้ ก็ทำให้มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ พูดอะไรมันก็ง่าย"

แต่หากย้อนสัมพันธ์พิเศษจาก "นายกฯกัมพูชาผู้พ่อ" ฮุน เซน กับ "ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 23 ที่ส่งต่อมายัง "ฮุน มาเนต"  กับ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีรุ่นน้อง ยาวนานกว่า 32 ปี

ไอบีซี พนมเปญ เสาเข็มต้นแรก 

ปี 2535 เสาเข็มต้นแรกที่ตอกความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” จนฝังลึกลงไปยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อนายทักษิณสมัยเป็นนักธุรกิจด้านโทรคมนาคมได้เข้าไปบุกเบิกธุรกิจสื่อสารและสถานีโทรทัศน์ในกัมพูชา ในนามบริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ 

ปี 2537-2538 สมัยรัฐบาลชวน 1 “ทักษิณ” เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ส่วนตัว พร้อมกับยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างแนบแน่น

กระทรวงต่างประเทศเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ “ฮุน  เซน” นายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่  29  มีนาคม – 1 เมษายน 2538

ครม.ยังอนุมัติให้ต่ออายุโครงการไตรภาคีญี่ปุ่น - อาเซียน - กัมพูชา เพื่อช่วยเหลือกัมพูชาออกไปอีก 1 ปี 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ครม.อนุมัติจัดสรรงบประมาณ จำนวน 244.699 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่กัมพูชา 

ฮุน เซน “เพื่อนแท้-เพื่อนตาย” 

หลังรัฐประหารปี 2549 “ทักษิณ” ต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองลูกใหญ่ ชีวิตพลิกผันจาก หัวหน้ารัฐบาลเสียงข้างมาก-เบ็ดเสร็จเด็ดขาดพรรคเดียว กลายเป็น “ผู้นำพลัดถิ่น” พเนจรอยู่ต่างแดนกว่า 17 ปี

ระหว่างทาง "ทักษิณ" ได้รับการโอบอุ้มทั้งทางกายและทางใจ จาก "ฮุน เซน" เสมือนดั่ง "เพื่อนแท้-เพื่อนตาย" ในช่วงที่ทักษิณต้องตกทุกข์ เผชิญวิบากกรรมทางการเมืองอยู่ต่างบ้านต่างเมือง  

ปี 2552 วันที่ 4 พฤศจิกายน “ฮุน เซน” เปิดบ้านพักในกรุงพนมเปญต้อนรับนายทักษิณ กัลยาณมิตรต่างเชื้อชาติ พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว-ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา 

ปีเดียวกันมีเหตุการณ์ที่พิสูจน์ความจริงใจของ "ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาขอส่งตัวนายทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชายอมแลกกับความบาดหมางทางการทูตที่จะเกิดขึ้น-ปฏิเสธการร้องขอขาดสะบั้น  

ปี 2553 “ฮุน เซน” ให้สัมภาษณ์นักข่าว-ตัวแทนสื่อไทยในโอกาสที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้จัดงานครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ที่วิมานสันติภาพ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีบางช่วงถึงนายทักษิณและความสัมพันธ์กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ขณะนั้นว่า 

“ส่วนในประเด็นของอดีตนายรัฐมนตรีทักษิณที่ผมแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของผม และปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว เรื่องนี้จบไปนานแล้วและทั้ง 2  ประเทศก็เข้าใจ อย่างไรก็ตามผมขอยืนยันว่าคุณทักษิณก็ยังเป็นเพื่อนของผมเหมือนเดิม ผมไม่ได้เป็นคนไม่มีคุณธรรม แต่ในนามของรัฐบาลกัมพูชา ผมต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ แต่ทั้งสองเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน”

ฐานเคลื่อนการเมืองนอกประเทศ 

ปี 2554 ในช่วงที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลกัมพูชาไฟเขียวให้นายทักษิณขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณด้านชายแดนอรัญประเทศ สระแก้ว

จนกระทั่ง “นายกฯน้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็น “นารีขี่ม้าขาว” ใช้เวลาเพียง 49 วันเข้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีคนที่ 28  

ปี 2555 ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันที่ 14 เมษายน ทักษิณ ฉลองเทศกาลสงกรานต์โดยการขึ้นเวทีปราศรัยบนเวที “คนเสื้อแดง” ที่เมืองเสียมราฐ  

ปี 2566 – หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนยึดอำนาจเมื่อปี 2557 วันที่ 5 สิงหาคม 2566 ปรากฎภาพนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปอวยพรวันเกิดครบรอบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน” พร้อมกับนอนพักค้างแรมและรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมืองตาเขมา จ.กันดาล ก่อนเดินทางกลับไทย

เปิดดีลเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจาก สว. เลือก "เศรษฐา" เป็นนายกรัฐมนตรี ไล่เลี่ยกับการส่งไม้ต่อทางอำนาจของ “ฮุน มาเนต” ลูกชายคนโตของ “ฮุน เซน” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาต่อจาก “นายกฯผู้พ่อ”  

นอกจากความสัมพันธ์แนบแน่นของ “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” แล้ว ยังเกี่ยวดองไปถึง “คนใกล้ชิด” ของฮุน เซน “เขยชินวัตร” ระหว่าง “ชยาภา วงศ์สวัสดิ์” ลูกสาวคนสุดท้ายของ “เยาวภา-สมชาย วงศ์สวัสดิ์” และยังเป็น “หลานสาว” ของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” กับ “นัม ลินัล” เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีกัมพูชา บุตรชายของ มาดามอ้วน วันลี กับ นายเลียง นัม คนใกล้ชิดของฮุนเซน  

ปี 2567 "เศรษฐา" กระชับความสัมพันธ์กับ “ทายาทฮุน เซน” ด้วยเปิดดีลเจรจาผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา กับ “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชารุ่นลูก โดยจะเดินทางมาพบกันที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567